ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
นรม.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือกิจการตำรวจระหว่างประเทศ ปี 2567 ระบุ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในเชิงลึก ร่วมกันปราบปรามการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อผดุงความยุติธรรมให้แก่ประชาชน
2024-09-11
New Southbound Policy。นรม.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือกิจการตำรวจระหว่างประเทศ ปี 2567 ระบุ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในเชิงลึก ร่วมกันปราบปรามการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อผดุงความยุติธรรมให้แก่ประชาชน (ภาพจากสภาบริหารและกระทรวงการต่างประเทศ)
นรม.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วมการประชุมความร่วมมือกิจการตำรวจระหว่างประเทศ ปี 2567 ระบุ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในเชิงลึก ร่วมกันปราบปรามการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อผดุงความยุติธรรมให้แก่ประชาชน (ภาพจากสภาบริหารและกระทรวงการต่างประเทศ)

สภาบริหารและกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 10 ก.ย. 67
 
เมื่อวันที่ 10 กันยายน นายจั๋วหรงไท่ นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “การประชุมความร่วมมือกิจการตำรวจระหว่างประเทศ ปี 2567 : การปราบปรามการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ ” (2024 International Forum on Police Cooperation : Combating Transnational Fraud) โดยนรม.จั๋วฯ กล่าวให้การต้อนรับบรรดาอาคันตุกะจำนวนกว่า 200 คน จาก 39 ประเทศทั่วโลก ที่มารวมตัวกันเพื่อหารือ 5 ประเด็นหลัก
 
นรม.จั๋วฯ กล่าวว่า ในยุคโลกาภิวัฒน์ องค์กรอาชญากรรมข้ามชาตินับวันจะมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับแนวทางการก่ออาชญากรรมที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทันสมัยรูปแบบต่างๆ นับวันก็ยิ่งมีรูปแบบที่พลิกแพลงแปลกใหม่ผุดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้คุกคามสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองทั่วไป และไม่มีประเทศใดในโลกที่จะสามารถรับมือเพียงลำพังได้ ด้วยเหตุนี้ การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงเป็นแนวทางสำคัญสำหรับการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญากรรมแบบข้ามชาติ นานาประเทศทั่วโลกจึงควรที่จะประสานความร่วมมือกัน ประยุกต์ใช้ประสบการณ์และข้อได้เปรียบของตน ในการร่วมสร้างกลไกความยุติธรรมให้แก่พลเมือง
 
นรม.จั๋วฯ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้จะมีการหารือ 5 ประเด็น ประกอบด้วย (1) การใช้เทคโนโลยีในการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องด้วยเทคโนโลยีเกิดใหม่อย่าง 5G และ AI มีพัฒนาการที่รุดหน้า ซึ่งกลุ่มมิจฉาชีพต่างก็ได้ประยุกต์ใช้ตัวช่วยเหล่านี้ในการฉ้อโกงประชาชน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงควรยกระดับและเสริมสร้างการใช้เทคโนโลยีในการบังคับใช้กฎหมาย (2) การแก้ไขกฎหมาย ทุกประเทศควรจัดตั้งกรอบกฎหมายที่มีผลใช้บังคับข้ามพรมแดน บนพื้นฐานทางกฎหมายภายในประเทศ จึงจะสามารถเปิดบริบททางความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่ออุดรอยรั่วในภารกิจการสกัดกั้นแก๊งมิจฉาชีพ (3) การจัดตั้งกลไกการแชร์ข้อมูลข่าวกรอง ทุกประเทศควรแชร์ข้อมูลข่าวกรองการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ ข้อมูลรายชื่อองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และรายงานการหลบหนีการจับกุมของหัวหน้าแก๊งมิจฉาชีพ เพื่อแสวงหาแนวทางการรับมือที่มีประสิทธิภาพ (4) การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อผนึกกำลังในการรับมือกับอิทธิพลของกลุ่มมิจฉาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ และ (5) การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้วยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยน และการส่งต่อประสบการณ์ระหว่างเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สำนักงานอัยการ หน่วยงานตำรวจ หน่วยงานด้านการสอบสวนและการปราบปรามการทุจริต ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างครอบคลุมยิ่งขึ้น
 
เพื่อปกป้องความปลอดภัยของประชาชน และค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จะมุ่งผลักดันการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจทางความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมาย และความตกลงว่าด้วยการป้องปรามการก่ออาชญากรรมข้ามชาติกับนานาประเทศ ควบคู่ไปกับการมุ่งจัดตั้งกลไกการรายงานต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงินของนานาประเทศ และช่องทางการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรอง เพื่อบรรลุแนวคิดด้านนโยบายการทูตเชิงบูรณาการ โดยไต้หวันยินดีและมีศักยภาพที่จะร่วมแบ่งปันทรัพยากรด้านความมั่นคงในภูมิภาค โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะบรรลุหลักการ ตามแผนผลักดันการเข้าร่วม “องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (International Criminal Police Organization หรือ INTERPOL)” อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันก้าวไปสู่โลก และส่งเสริมให้โลกก้าวเข้าสู่ไต้หวัน