ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 10 ก.ย. 67
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 10 กันยายน 2567 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับคณะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ “โครงการไต้หวันในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก” (Project on Taiwan in Indo-Pacific) ของสถาบัน Hoover Institute มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐอเมริกา โดยปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อสถาบัน Hoover ที่มุ่งวิจัยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันมาเป็นเวลานาน เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันได้รับพลังเสียงสนับสนุนจากประชาคมโลก พร้อมระบุว่า ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วน ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ดำเนินไปอย่างแนบแน่นและแข็งแกร่ง เพื่อรับมือกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ทั้งสองฝ่ายจึงจำเป็นต้องจับมือกันสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานที่เปี่ยมด้วยความมั่นคงและความทรหด โดยปธน.ไล่ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคต ทั้งสองฝ่ายจะสามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ เพื่อประสานความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาที่ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองระดับโลกต่อไป
ปธน.ไล่ฯ กล่าวต้อนรับพลเรือเอก Admiral James O. Ellis Jr. ที่ได้นำคณะนักวิชาการเดินทางเยือนไต้หวัน โดยวัตถุประสงค์ของการเดินทางเยือนในครั้งนี้ นอกจากจะนำมาซึ่งมิตรภาพที่อบอุ่นแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนที่แข็งแกร่งและเปี่ยมด้วยพลังที่มีต่อไต้หวัน สถาบัน Hoover นับเป็นหนึ่งในคลังสมองที่มีอิทธิพลที่สุดในสหรัฐฯ ทุกข้อเสนอแนะที่รวมถึงการตีความต่อสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน ล้วนได้รับการให้ความสำคัญจากรัฐบาลและประชาชนชาวสหรัฐฯ โดยถ้วนหน้า
หลายปีมานี้ สงครามรัสเซีย - ยูเครน ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล – ฮามาส และการเคลื่อนไหวทางการทหารของจีน ได้สร้างความท้าทายที่ใหญ่หลวงต่อสันติภาพและความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานกฎกติกาสากล ไต้หวันตั้งอยู่ในพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 และเป็นปราการด่านแรกในการป้องกันประชาธิปไตย พวกเราจะมุ่งมั่นสร้างคุณประโยชน์ด้านประชาธิปไตย สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองระดับสากลอย่างต่อเนื่องต่อไป
ปธน.ไล่ฯ ระบุว่า พวกเราจะมุ่งปฏิบัติภารกิจตาม “แผนปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ 4 มิติ” ซึ่งประกอบด้วย การเสริมสร้างศักยภาพทางกลาโหม การจัดตั้งความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในเชิงลึกกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตย และการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ด้วยศักยภาพผู้นำทางความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ที่เปี่ยมเสถียรภาพและมีหลักการ
ปธน.ไล่ฯ แถลงว่า หลายปีมานี้ สหรัฐฯ มุ่งมั่นสร้างเครือข่ายหุ้นส่วนรูปแบบร่างแห เพื่อส่งเสริมการสนับสนุนระหว่างหุ้นส่วนในแถบมหาสมุทรแอตแลนติกและภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก โดยพวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ไต้หวัน - สหรัฐฯ จะมุ่งเสริมสร้างศักยภาพของพันธมิตร ผ่านเครือข่ายทางความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้าง “เกราะป้องกันด้านประชาธิปไตย” (Democratic Umbrella) ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยรอดพ้นจากภัยคุกคาม ที่เกิดจากการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ
พลเรือเอก Ellis กล่าวขณะปราศรัยว่า สมาชิกคณะตัวแทนในครั้งนี้ ยังคงเป็นเหมือนเช่นเดิมที่ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญชาวสหรัฐฯ ที่มุ่งวิจัยด้านนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงแห่งชาติของไต้หวัน จีนและสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมี Ms. Marise Payne อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการดีเด่นของสถาบัน Hoover ซึ่งได้ร่วมเดินทางมาเยือนไต้หวันในครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งหวังที่ต้องการจะร่วมธำรงรักษาเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค โดยหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกที่เชื่อถือได้ กำลังร่วมแลกเปลี่ยนกันตามเป้าหมายที่แน่ชัดอย่างเป็นรูปธรรม
พลเรือเอก Ellis กล่าวว่า นับตั้งแต่ครั้งที่แล้วที่ได้เดินทางเยือนไต้หวัน พวกเขาได้ประจักษ์ถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาความท้าทายนานาประการ ซึ่งบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัด ในฐานะที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ในภูมิภาคเอเชีย GDP ของไต้หวันเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความต้องการในการส่งออกสินค้าสู่ไต้หวันของนานาประเทศ นับวันยิ่งเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น ประกอบกับระบบห่วงโซ่อุปทานที่นับวันยิ่งมีความทรหดมากขึ้น ซึ่งไต้หวันสวมบทบาทสำคัญที่ไม่สามารถขาดได้ โดยไต้หวันจะมุ่งยกระดับศักยภาพการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสหรัฐฯ และหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ก็จะมุ่งรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคให้คงอยู่ต่อไปด้วยเช่นกัน
พลเรือเอก Ellis แถลงว่า ทั่วโลกต่างตระหนักดีว่า ประชาชนชาวไต้หวันมีความเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ที่ผ่านการเลือกตั้งในรูปแบบประชาธิปไตย จะมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญด้วยวิธีการที่เป็นประโยชน์ ควบคู่ไปกับการกำหนดนโยบายสำคัญของประเทศ
พลเรือเอก Ellis ย้ำว่า โลกเรายังคงมีภัยอันตรายที่แฝงตัวอยู่มากมาย ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พวกเราได้แสดงความห่วงใยต่อภัยคุกคามที่ประชาชนชาวไต้หวัน รวมถึงความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ต้องเผชิญ แม้ว่าคณะตัวแทนจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองและความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยที่แตกต่างกัน แต่พวกเขาเชื่อว่า อนาคตของทุกคนมีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด จากสถานการณ์รัสเซียบุกยูเครน และความสัมพันธ์ทางความร่วมมือระหว่างจีน รัสเซีย อิหร่านและเกาหลีเหนือ ต่างทำให้ทั่วโลกตระหนักว่า ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ จะสามารถส่งผลกระทบต่อทุกพื้นที่ทั่วโลกได้
พลเรือเอก Ellis เน้นย้ำว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ กลุ่มพันธมิตรด้านประชาธิปไตยจำเป็นต้องแบกรับความรับผิดชอบ เพื่อร่วมเผชิญกับสภาพความเป็นจริง เชื่อว่าไม่ว่าจะในยุคสมัยที่เปี่ยมด้วยสันติภาพ หรือยุคสมัยที่ต้องรับมือกับวิกฤตความท้าทาย พวกเราก็จะสามารถแข็งแกร่งขึ้นได้จากความร่วมมือในด้านต่างๆ พลเรือเอก Ellis ระบุว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ นับตั้งแต่วิศวกร นักศึกษาไปจนถึงความร่วมมือด้านพลังงานและความมั่นคงของทั้งสองประเทศ ต่างก็เป็นการธำรงรักษาความสัมพันธ์แบบทวิภาคีให้เกิดความยั่งยืนและจะทำให้เราแข็งแกร่งยิ่งขึ้น