กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 20 ก.ย. 2567
เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา ตามเวลาในเขตตะวันออกของสหรัฐฯ คณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา ได้จัดการประชุมพิจารณ์ว่าด้วยการแข่งขันทางอิทธิพลของอำนาจเผด็จการในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก โดย Mr. Kurt Campbell รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แสดงจุดยืนเห็นด้วยต่อข้อซักถามเกี่ยวกับการที่มติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติฉบับที่ 2758 มิได้มีการระบุถึงสถานภาพของไต้หวัน พร้อมชี้ว่า จีนอาศัยญัตติข้างต้นเป็นเครื่องมือทางการทูต โดยกล่าวอ้างว่า สถานภาพของไต้หวันเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับทางนิตินัย และใช้ “หลักการจีนเดียว” มาสร้างแรงกดดันต่อไต้หวัน รมช. Campbell ยังย้ำถึงคำมั่นที่สหรัฐฯ มีต่อไต้หวัน พร้อมทั้งจะมุ่งมั่นธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ตลอดจนเน้นย้ำด้วยว่า นี่เป็นฉันทามติแบบข้ามพรรคภายในประเทศของสหรัฐฯ
นอกจากสหรัฐฯ แล้ว หลายปีมานี้ ออสเตรเลียและเนเธอร์แลนด์ รวมถึงกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่างก็ทยอยมีมติเห็นชอบต่อญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน โดยชี้ว่า มติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติฉบับที่ 2758 มิได้มีการระบุถึงไต้หวัน
เพื่อแสดงถึงการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมในระบบสหประชาชาติ คณะผู้แทนถาวรจากประเทศพันธมิตรประจำสหประชาชาติ เช่น เบลีซ เอสวาตินี กัวเตมาลา หมู่เกาะมาร์แชลล์ ปาเลา เซนต์คิดส์และเนวิส เซนต์ลูเซีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ รวมถึงตูวาลู ได้ร่วมลงนามยื่นส่งหนังสือเรียกร้องให้แก่ Mr. Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ โดยได้แสดงจุดยืนต่อต้านการบิดเบือนและการอ้างอิงญัตติฉบับที่ 2758 ในทิศทางที่ผิด นอกจากนี้ ปารากวัยยังได้แสดงจุดยืนที่สนับสนุนแผนผลักดันการเข้าร่วมระบบ UN ของไต้หวันเป็นกรณีพิเศษ กต.ไต้หวันขอแสดงความขอบคุณต่อความช่วยเหลือของประเทศพันธมิตรด้วยใจจริง
คณะผู้แทนถาวรจากประเทศพันธมิตรประจำสหประชาชาติ เน้นย้ำข้อเรียกร้อง 3 ประการของมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติฉบับที่ 2758 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ :
1. ญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ถูกบิดเบือนด้วยความจงใจ อันถือเป็นการสร้างภัยคุกคามที่รุนแรงต่อสถานภาพเดิมในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน รวมถึงสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก
2.ญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 มิได้ระบุถึงเนื้อความที่กีดกันให้ไต้หวันอยู่นอกระบบของ UN ด้วยเหตุนี้ UN จึงควรที่จะแสวงหาแนวทางที่เหมาะสมในการยอมรับให้ไต้หวันเข้าร่วมได้ ตามที่ไต้หวันได้อุทิศคุณประโยชน์และมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
3. สำนักเลขาธิการสหประชาชาติควรยึดมั่นในจุดยืนที่เป็นกลาง ด้วยการยุติการอ้างอิงญัตติฉบับที่ 2758 และยุติการลิดรอนสิทธิของประชาชนและสื่อไต้หวันในการเข้าร่วมการประชุม กลไกและกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ระบบของ UN
กต.ไต้หวันขอแสดงจุดยืนว่า ญัตติฉบับที่ 2758 มิได้ระบุถึงไต้หวัน เพราะฉะนั้นจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับไต้หวัน โดยญัตติฉบับนี้มิได้สะท้อนและมิได้เทียบเท่ากับ “หลักการจีนเดียว” ของจีน อีกทั้งยังมิได้ระบุถึงการกีดกันมิให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในระบบ UN และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ต่อกรณีที่จีนจงใจบิดเบือนญัตติ 2758 และจงใจสร้างความสับสนให้แก่ประชาคมโลก กต.ไต้หวันขอประณาม พร้อมทั้งขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมต่อต้านคำกล่าวอ้างของจีน นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้สำนักเลขาธิการสหประชาชาติดำเนินมาตรการตาม “กฎบัตรสหประชาชาติ” และตามคำมั่นที่ว่า “ไม่ละทิ้งผู้ใดไว้ข้างหลัง” ด้วยการเปิดรับให้ไต้หวันเข้าร่วมโดยเร็ว