ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การประชุมนานาชาติว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมไต้หวัน ปี 2567 เน้นย้ำการก้าวข้ามกรอบจำกัดสู่นวัตกรรมที่ยั่งยืน ส่งเสริมการสืบสานทางวัฒนธรรมในรูปแบบยั่งยืน
2024-09-26
New Southbound Policy。การประชุมนานาชาติว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมไต้หวัน ปี 2567 เน้นย้ำการก้าวข้ามกรอบจำกัดสู่นวัตกรรมที่ยั่งยืน ส่งเสริมการสืบสานทางวัฒนธรรมในรูปแบบยั่งยืน (ภาพจากกระทรวงวัฒนธรรม)
การประชุมนานาชาติว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมไต้หวัน ปี 2567 เน้นย้ำการก้าวข้ามกรอบจำกัดสู่นวัตกรรมที่ยั่งยืน ส่งเสริมการสืบสานทางวัฒนธรรมในรูปแบบยั่งยืน (ภาพจากกระทรวงวัฒนธรรม)

กระทรวงวัฒนธรรม วันที่ 25 ก.ย. 67
 
“การประชุมนานาชาติว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมไต้หวัน ปี 2567” เปิดฉากขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 26 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การประชุม GIS NTU Convention Center มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTU) เพื่อขานรับกระแสการอนุรักษ์และการชุบชีวิตใหม่ให้แก่มรดกทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติ โดยใช้แนวคิดด้านการบริหารจัดการมรดกโลกและแนวโน้มการพัฒนาเชิงนวัตกรรมที่ยั่งยืนเป็นหัวใจหลัก ผนวกเข้ากับกรณีตัวอย่างของสถานที่เก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรมของไต้หวัน โดยได้เชิญ 6 ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และแคนาดาของสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ปรึกษาสำคัญของมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ภายใต้องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานภาครัฐด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ รวมไปถึงหน่วยงานเอกชนในไต้หวัน เพื่อขยายขอบเขตการเข้าร่วมและหยั่งรากลึกในการเสริมสร้างเครือข่ายทางความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของไต้หวัน
 
นายหลี่หยวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวว่า แม้ไต้หวันจะมีเพียงพื้นที่ขนาดเล็ก แต่กลับเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่สิ้นสุด เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่มีความพิเศษเฉพาะตัว ส่งผลให้ไต้หวันมีภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น นอกจากมีภูเขาสูงตระหง่านเสียดฟ้าและท้องทะเลที่กว้างใหญ่ไพศาลแล้ว ยังมีสัตว์และพืชพรรณที่หลากหลาย รวมถึงสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์รวมของโลก จึงอาจกล่าวได้ว่า ไต้หวันเป็นสมบัติล้ำค่าที่สุดของพวกเรา รมว.หลี่ฯ กล่าวว่า แม้ว่าตนจะผันตัวมาจากแวดวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีความคุ้นชินกับวรรณกรรม สื่อสิ่งพิมพ์ ผลงานภาพยนตร์ ละครเวทีและการแสดงเชิงศิลปวัฒนธรรม แต่ทิศทางการดำเนินนโยบายของรมว.หลี่ฯ ได้กำหนดให้มรดกทางวัฒนธรรม บรรจุเข้าสู่ 1 ใน 12 รายการสำคัญของโครงการ Fertile Ground Projects เพื่อสื่อให้เห็นว่า ไต้หวันให้ความสำคัญต่อมรดกทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก การประชุมนานาชาติว่าด้วย “การก้าวข้ามกรอบจำกัดสู่นวัตกรรมที่ยั่งยืน” ที่เปิดฉากขึ้นในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการส่งมอบโอกาสการเรียนรู้ประสบการณ์จากประชาคมโลกให้แก่ไต้หวันแล้ว สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ คาดหวังที่จะส่งเสริมให้นโยบายเชิงมรดกทางวัฒนธรรมของไต้หวันเชื่อมโยงไปสู่เวทีโลก ผ่านการประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการสืบสานมรดกวัฒนธรรมของไต้หวันให้เกิดความยั่งยืน แสวงหาแนวทางนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมก้าวขึ้นสู่เวทีโลกอย่างเฉิดฉาย
 
ในปีนี้มีตัวแทนผู้ประกอบการยุวสตาร์ทอัพเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า มีเยาวชนจำนวนมากที่ยินดีเข้าร่วมจับตาประเด็นมรดกทางวัฒนธรรม เนื่องจากไต้หวันมีมรดกทางวัฒนธรรมที่มากมายและอุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจากสถานการณ์ระหว่างประเทศ ทำให้ตราบจนปัจจุบันยังคงไม่สามารถเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้ หลายปีมานี้ กรมมรดกทางวัฒนธรรมไต้หวันได้อ้างอิงประสบการณ์จากต่างประเทศ ผ่านการจัดการประชุมนานาชาติและเสริมสร้างความเชื่อมโยงกับองค์การระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งเสริมสร้างความเป็นมรดกทางวัฒนธรรมไต้หวันอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงภารกิจการรวบรวมและการบ่มเพาะบุคลากร เป็นต้น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า วันใดที่ไต้หวันได้รับการอนุมัติให้เสนอขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก จะสามารถเผยโฉมความสมบูรณ์พร้อมที่สุดให้ประจักษ์สู่สายตาประชาคมโลก  
 
Ms. Teresa Patricio ประธานสภา ICOMOS กล่าวเน้นย้ำผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า โดยระบุว่า นโยบายทางวัฒนธรรมจำเป็นต้องก้าวข้ามกรอบจำกัดของความดั้งเดิม ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์แห่งอนาคต และตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวัฒนธรรม มรดกทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ ภาษาสื่อโซเชียลท้องถิ่น และภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น อันก่อเกิดเป็นค่านิยมที่สำคัญในการรับมือกับความท้าทายระดับสากล  Ms. Patricio แถลงว่า ภายใต้ภูมิหลังเช่นนี้ และเพื่อขานรับกระแสนานาชาติด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม การมุ่งเปิดการเจรจากับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ รวมไปถึงองค์กรภาคเอกชน จะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างกลไกความคุ้มครอง การบริหารจัดการ และการผลักดันภารกิจด้านมรดกทางวัฒนธรรมให้ครอบคลุมขึ้นได้