ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 4 ต.ค. 67
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคม 2567 รองประธานาธิบดีเซียวเหม่ยฉินแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับคณะตัวแทนมูลนิธิ German Marshall Fund of the United States แห่งเยอรมนี (GMF) ที่รวมตัวขึ้นจากกลุ่มประเทศในพื้นที่แถบมหาสมุทรแอตแลนติก โดยรองปธน.เซียวฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อ GMF ที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นช่องแคบไต้หวัน พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายและสร้างความร่วมมือที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง พร้อมชี้ว่า ไต้หวันและพันธมิตรในทวีปยุโรป ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคมหลายครั้ง ซึ่งกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่างก็ให้การยอมรับต่อแนวคิดดังกล่าว โดยรัฐบาลจะมุ่งแสวงหาแนวทางเพื่อให้การสนับสนุนทางกลาโหมและความมั่นคงในภาพรวมของไต้หวันอย่างกระตือรือร้นต่อไป ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับความท้าทายและภัยพิบัติต่างๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป
รองปธน.เซียวฯ ชี้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไต้หวันได้เรียนรู้วิธีรับมือกับความท้าทายอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถกลับสู่การใช้ชีวิตตามปกติได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า ความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม ที่ปธน.ไล่ฯ มุ่งผลักดันเป็นภารกิจอันดับต้นๆ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินมาตรการต่างๆ ทางสังคมให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยรัฐบาลจะยังคงลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อเสริมสร้างความสามารถของสังคมในการรับมือกับความท้าทายและภัยพิบัติต่างๆ
ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็ได้ให้การต้อนรับคณะตัวแทนจาก “มูลนิธิ German Marshall Fund of the United States แห่งเยอรมนี” (GMF) โดยย้ำว่า เมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากทั้งทางไซเบอร์และทางการทหารจากจีนอย่างต่อเนื่อง นอกจากไต้หวันจะจัดสรรงบประมาณด้านกลาโหมที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังมุ่งยกระดับความยืดหยุ่นใน 4 มิติ ทั้งกลาโหม พลเรือน การบรรเทาภัยพิบัติและประชาธิปไตยในภาพรวม เพื่อสร้างหลักประกันด้านเสถียรภาพในภูมิภาคและการพัฒนาทางประชาธิปไตยที่ยั่งยืน โดยปธน.ไล่ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้าง “เกราะป้องกันด้านประชาธิปไตย” (Democratic Umbrella) ร่วมกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลก ตลอดจนหวังจะเห็นไต้หวัน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนกันในด้านเศรษฐกิจ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่เกิดจากการขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ
ในช่วงแรก ปธน.ไล่ฯ ได้กล่าวต้อนรับต่อการมาเยือนของ Ms. Heather A. Conley ที่ปรึกษาระดับอาวุโสแห่งมูลนิธิ GMF พร้อมชี้ว่า มูลนิธิ GMF ให้ความสำคัญต่อประเด็นช่องแคบไต้หวันมาเป็นเวลานาน และได้มีการประกาศรายงานวิจัยที่เกี่ยวกับญัตติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ซึ่งชี้แจงอย่างชัดเจนว่า ญัตติฉบับข้างต้นมิได้มีการกล่าวถึงไต้หวัน เพื่อส่งเสริมให้ประชาคมโลกตระหนักเห็นถึงเจตจำนงของจีนที่ตีความในทิศทางที่บิดเบือนข้อเท็จจริง และสร้างความเชื่อมโยงที่ไม่เหมาะสมกับ“หลักการจีนเดียว” ปธน.ไล่ฯ ยังใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อ Ms. Bonnie Glaserb ผู้อำนวยการโครงการอินโด - แปซิฟิก สำหรับความมุ่งมั่นและการสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง
ปธน.ไล่ฯ เห็นว่า หลายปีมานี้ สหรัฐฯ มุ่งประสานความร่วมมือกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงจุดยืนในการย้ำความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน นอกจากนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังขอบคุณมูลนิธิ GMF ที่มุ่งอุทิศคุณประโยชน์เพื่อให้การสนับสนุนไต้หวัน ในระหว่างการผลักดันความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในพื้นที่แถบมหาสมุทรแอตแลนติก
ปธน.ไล่ฯ กล่าวอีกว่า เมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากจีนอย่างต่อเนื่อง และการขยายขอบเขตของอำนาจทางทหารของจีนในพื้นที่ทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศบนพื้นฐานของกฎกติกาสากล นอกจากพวกเราจะจัดสรรงบประมาณทางกลาโหมเพิ่มขึ้นแล้ว ยังได้จัดตั้งคณะทำงานด้านนวัตกรรมทางกลาโหม ควบคู่ไปกับการจัดตั้ง “คณะกรรมการความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม” เพื่อสรรสร้างให้ไต้หวันมีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นมากขึ้น
นอกจากไต้หวันจะมีความมุ่งมั่นในการธำรงรักษาประชาธิปไตยแล้ว ยังคาดหวังที่จะสร้าง “เกราะป้องกันด้านประชาธิปไตย” (Democratic Umbrella) ร่วมกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลก เพื่อหลีกเลี่ยงภัยคุกคามที่เกิดจากการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ในด้านความร่วมมือทางกลาโหม ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือของ Ms. Jessica Lewis ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายกิจการความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนและทหาร ที่กระตุ้นให้รัฐบาลสหรัฐฯ มีมติเห็นชอบต่อญัตติว่าด้วยอำนาจโดยชอบธรรมของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ภายใต้ชื่อ "Presidential Drawing Authority" (PDA) และโครงการเงินช่วยเหลือทางการทหาร (Foreign Military Financing, FMF) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการป้องกันประเทศที่ไต้หวันต้องการ
นอกจากด้านกลาโหมแล้ว ความร่วมมือทางเศรษฐกิจก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่ง ปธน.ไล่ฯ หวังที่จะเห็นไต้หวัน – สหรัฐฯ เร่งแก้ไขปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อนในเร็ววัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคี พร้อมหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นไต้หวัน – EU ลงนามความตกลงด้านการลงทุนแบบทวิภาคี เพื่อกระตุ้นการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวมากขึ้น
ปธน.ไล่ฯ เชื่อว่า เมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามที่เกิดจากลัทธิอำนาจนิยม กลุ่มประเทศประชาธิปไตยจำเป็นต้องรวมพลังกัน จึงจะสามารถนำเอาสติปัญญาและพลังแห่งความสามัคคีมาใช้ในการรับมือ ไต้หวันต้องการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก และโลกก็ต้องการไต้หวันด้วยเช่นกัน หลังจากนี้ ไต้หวันจะยังคงร่วมมือกับสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรปต่อไป
Ms. Conley กล่าวว่า มูลนิธิ GMF มุ่งมั่นในการเชื่อมโยงประชาธิปไตย ความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคง ซึ่งมีความสำคัญต่อสังคมในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ยิ่งสถานการณ์และความท้าทายระหว่างประเทศมีความซับซ้อนมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของความเป็นหุ้นส่วนในการแก้ปัญหาร่วมกันมากขึ้นเท่านั้น