กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 4 ต.ค. 67
การอภิปรายทั่วไปของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 79 (UNGA79) ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 30 กันยายน ที่ผ่านมา ตามเวลาในฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ โดยกลุ่มพันธมิตรไต้หวัน กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันและมิตรสหายนานาชาติจากทั้งในและต่างประเทศ ต่างสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมในระบบของสหประชาชาติ (UN) ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ พร้อมทั้งแสดงจุดยืนต่อต้านการบิดเบือนของจีนในการตีความญัตติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริง
เจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของปารากวัย หมู่เกาะมาร์แชลล์ ปาเลา เซนต์วินเซนต์ เอสวาตินี ตูวาลู เซนต์คิดส์และเนวิส เซนต์ลูเซียและเบลีซ ต่างทยอยเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันในการประชุมอภิปรายทั่วไปของ UN และการประชุมสุดยอดแห่งอนาคต (Summit of the Future) โดยในจำนวนนี้ หมู่เกาะมาร์แชลล์ ปาเลา ตูวาลูและเซนต์ลูเซีย ต่างระบุชัดเจนว่า ญัตติ 2758 มิได้มีเนื้อความที่ระบุถึงการกีดกันมิให้ไต้หวันเข้าร่วมในระบบ UN และนับเป็นครั้งที่ 2 ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวแสดงจุดยืนมุ่งธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ต่อเนื่องจากการประชุมอภิรายทั่วไปในปี พ.ศ. 2565 อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกที่ออสเตรเลียได้ระบุถึงช่องแคบไต้หวันในระหว่างการอภิปรายทั่วไป นอกจากนี้ Ms. Penny Wong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลีย ก็ประกาศว่า พวกเราจะยังคงเรียกร้องให้จีนรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันต่อไป
ก่อนการเปิดอภิปรายทั่วไป UN Mr. Kurt Campbell รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้แสดงทรรศนะในระหว่างการประชาพิจารณ์ของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งสภาผู้แทนราษฎรว่า ญัตติ 2758 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการทูตที่จีนใช้สร้างแรงกดดันต่อสถานภาพของไต้หวัน ซึ่ง Mr. Caspar Veldkamp รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ ก็ได้แสดงความทรรศนะระหว่างตอบข้อซักถามในรัฐสภาเช่นกันว่า ญัตติ 2758 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับไต้หวันเลยแม้แต่น้อย นอกจากนี้ หลังจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของ "กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้งเจ็ด" (G7) และผู้แทนระดับสูงด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงของสหภาพยุโรปที่จัดขึ้นนอกรอบของการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้ออกแถลงการณ์ของประธานในที่ประชุม ซึ่งเน้นย้ำอีกครั้งถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของนานาชาติ รวมทั้งยังย้ำถึงการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของไต้หวันในเวทีระหว่างประเทศ
ในส่วนของหน่วยงานนิติบัญญัติ ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มพันธมิตรจีนแห่งรัฐสภาข้ามชาติ (IPAC) มีมติเห็นชอบต่อ “ต้นแบบญัตติการประชุมของนานาประเทศที่มีการระบุถึงญัตติ 2758” เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 โดยวุฒิสภาออสเตรเลีย สภาผู้แทนราษฎรเนเธอร์แลนด์ และรัฐสภากัวเตมาลา ต่างทยอยลงมติเห็นชอบต่อญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวันด้วยการอ้างอิงญัตติฉบับข้างต้น นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฏรอิตาลี ก็มีมติเห็นชอบต่อญัตติที่ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ เพื่อแสดงออกถึงความสนับสนุนอย่างหนักแน่นที่มีต่อไต้หวัน
ในส่วนของกิจกรรมนอกรอบ ปธน.ไล่ฯ ได้ตอบรับคำเชิญของการประชุมสุดยอดประจำปี Concordia (2024 Concordia Annual Summit) โดยกล่าวปราศรัยผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้าว่า ไต้หวันมุ่งธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ควบคู่ไปกับการเรียกร้องให้ประชาคมโลกสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและแคนาดา ยังร่วมจัดการประชุมนานาชาติ ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ขึ้น ณ นครนิวยอร์ก ในระหว่างการประชุม UNGA 79 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ของไต้หวันที่ต้องการจะสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลก
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เผยแพร่แผนผลักดันประจำปีนี้ของไต้หวันผ่านสื่อประชาสัมพันธ์และสื่อมวลชนไปทั่วทุกมุมโลก เพื่อแสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์อันดีงามของไต้หวัน ซึ่งเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบในประชาคมโลก และเพื่อขยายการยอมรับและการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศที่มีต่อความพยายามของไต้หวันในการเข้าร่วมเวทีระหว่างประเทศ
กต.ไต้หวันขอเน้นย้ำอีกครั้งอย่างหนักแน่นว่า ญัตติ 2758 มิได้ระบุถึงไต้หวัน ซึ่งหมายความว่า ญัตตินี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับไต้หวัน และไม่สามารถเป็นหลักฐานอ้างอิงในการกีดกันมิให้ไต้หวันเข้าร่วมในระบบของ UN และองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ไต้หวันยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะอุทิศคุณประโยชน์ให้ประชาคมโลก และเปี่ยมด้วยความสมัครใจและความสามารถ การกีดกันให้ไต้หวันอยู่นอกระบบของความสัมพันธ์แบบพหุภาคี ถือเป็นความเสียหายของมวลมนุษยชาติ และไม่เป็นผลดีต่อการบรรลุ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” กต.ไต้หวันจึงขอเรียกร้องให้ UN ยุติการยอมจำนนต่อแรงกดดันจากจีน ด้วยการเปิดรับให้ไต้หวันเข้าร่วมในระบบอย่างเต็มที่ และเพื่อเป็นการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และหลักการ “ไม่ละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง” ของ UN