ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์ปลาทูน่าครีบน้ำเงินใต้ (CCSBT) เปิดฉากขึ้น ณ กรุงไทเปเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา
2024-10-08
New Southbound Policy。การประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์ปลาทูน่าครีบน้ำเงินใต้ (CCSBT) เปิดฉากขึ้น ณ กรุงไทเปเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา (ภาพจากกรมการประมง)
การประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์ปลาทูน่าครีบน้ำเงินใต้ (CCSBT) เปิดฉากขึ้น ณ กรุงไทเปเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา (ภาพจากกรมการประมง)

กรมการประมง วันที่ 7 ต.ค. 67
 
กรมการประมงไต้หวัน แถลงว่า การประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์ปลาทูน่าครีบน้ำเงินใต้ (Commission for the Conservation of Southern Bluefin Tuna, CCSBT) ได้เปิดฉากขึ้น ณ โรงแรม Regent Taipei ในช่วงระหว่างวันที่ 7 – 10 ตุลาคม 2567 โดยคณะกรรมการ CCSBT ประกอบด้วย 7 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ อินโดนีเซียและแอฟริกาใต้ ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม รวมจำนวน 70 คน
 
กรมการประมงไต้หวันอธิบายว่า ประเด็นสำคัญของการประชุมครั้งนี้ คือ การแก้ไขแผนยุทธศาสตร์ การกำหนดปริมาณการจับปลาทูน่าครีบน้ำเงินใต้ทั่วโลก (TAC) ในปี 2568 การแก้ไขมาตรการที่สมาชิกต้องปฏิบัติตามและปรับปรุงแก้ไข รวมถึงการปรับปรุงข้อเสนอหลายประการเกี่ยวกับมาตรการจัดการการประมงปลาทูน่าครีบน้ำเงินใต้ ประเด็นเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมปลาทูน่าครีบน้ำเงินใต้
 
กรมการประมง ชี้ว่า คณะกรรมการ CCSBT เป็นองค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาค (RFMO) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของประเทศที่สามารถจับปลาทูน่าครีบน้ำเงินใต้และประเทศชายฝั่งที่เป็นเส้นทางซึ่งปลาทูน่าครีบน้ำเงินใต้จะว่ายผ่าน โดยใช้มาตรการอนุรักษ์และการบริหารจัดการที่เหมาะสม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และยังเป็นหน่วยงานบริหารการประมงระดับภูมิภาคที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ปลาชนิดเดียวในโลก
 
กรมการประมง ยังชี้ว่า ไต้หวันมุ่งอัดฉีดทรัพยากรในด้านนี้มาเป็นเวลานาน เพื่อจัดตั้งกลไกการบริหารของกองเรือประมง พร้อมทั้งกำหนดให้มาตรการต่างๆ ของคณะกรรมการ CCSBT ถูกบัญญัติเข้าสู่กฎหมายไต้หวัน เช่น การบริหารรายชื่อเรือประมงที่ได้รับมอบอำนาจ การรายงานข้อมูลการจับปลา การบังคับใช้ระบบควบคุมติดตามเรือประมง ใบรับรองการจับสัตว์นํ้า การตรวจสอบผลผลิตปลาทูน่าครีบน้ำเงินใต้ในจุดเทียบท่าทั้งในและต่างประเทศ การป้องกันและปราบปรามการค้าสินค้าประมงผิดกฎหมาย การส่งเจ้าหน้าที่เผ้าสังเกตการณ์บนเรือประมงที่เข้าร่วมการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ การขานรับต่อกระแสการอนุรักษ์ระดับนานาชาติ และการทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในการดำเนินการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรและการเพิ่มความแม่นยำในการประเมินทรัพยากร