ทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงวัฒนธรรม วันที่ 11 ต.ค. 67
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 11 ตุลาคม 2567 รองประธานาธิบดีเซียวเหม่ยฉินแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าอบรมสตรีในโครงการ Being Dazzling 2.0 พร้อมทั้งให้กำลังใจและสนับสนุนให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมสตรีพัฒนาความสามารถ ความมั่นใจในตนเอง ความเห็นอกเห็นใจ และความกล้าหาญ ในการมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหา แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นต่อไป รวมทั้งใช้พลังของผู้หญิงในด้านต่างๆ และใช้ศักยภาพของตนเองในการบรรลุเป้าหมาย ตลอดจนคาดหวังที่จะเห็นกิจกรรมการฝึกอบรมศักยภาพกลุ่มสตรีมีการขยายตัวมากขึ้นและกลายเป็นกำลังสำคัญในอนาคตของไต้หวัน
วันที่ 11 ตุลาคมของทุกปีตรงกับวันเด็กหญิงสากล (International Day of the Girl Child) และเป็นวันเด็กหญิงของไต้หวัน รองปธน.เซียวฯ จึงใช้โอกาสนี้ในการร่วมแบ่งปันแนวคิด “C4ISR” เพื่อเป็นประโยชน์แก่กลุ่มผู้เข้าอบรมสตรี โดย “C4” ประกอบด้วย Competence (ศักยภาพ) การขยายวิสัยทัศน์ ควบคู่กับการเสริมสร้างศักยภาพด้วยอุปกรณ์เครื่องมือทางเทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ Confidence (ความเชื่อมั่น) ส่งเสริมให้ประชาชนชาวไต้หวันรุ่นใหม่ เผชิญหน้ากับสังคมและโลกด้วยความเชื่อมั่นที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ เพื่อผลักดันให้ไต้หวันก้าวขึ้นสู่เวทีโลก Compassion (ความเห็นอกเห็นใจ) ต้องยึดมั่นในหลักการความเห็นอกเห็นใจ ร่วมห่วงใยและแสวงหาโอกาสตอบแทนสังคม และ Courage (ความกล้าหาญ) กล้าที่จะทำตามเส้นทางแห่งความฝันของตน
ส่วน “I” หมายถึง Integrity (ความซื่อสัตย์สุจริต) เราต้องยึดมั่นในคุณธรรมเพื่อใช้เป็นเข็มทิศในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ ยังสามารถตีความไปในทิศทางของ Influence (อิทธิพล) และ Inspiration (แรงบันดาลใจ) เฉกเช่นหลินนอวี้ถิง นักมวยหญิงฝีมือดีชาวไต้หวัน ที่ได้แสดงฝีไม้ลายมืออันเก่งฉกาจบนเวทีโลก จนสร้างความประทับใจและนำเกียรติยศมาสู่ประเทศชาติอย่างเต็มภาคภูมิ
สำหรับ “S” และ “R” รองปธน.เซียวฯ เชื่อว่า ผู้หญิงสามารถสวมบทบาทเป็นนักแก้ไขปัญหาในสังคมได้ (Problem Solver) และเพรียบพร้อมด้วยคุณสมบัติความทรหด (Resilience) ซึ่งคำว่าทรหด ก็เป็นสรรพนามที่ใช้เรียกแทนไต้หวัน เนื่องจากไต้หวันยังคงสามารถแสดงความทรหดและพลังความสามารถได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับความยากลำบากหรือถูกบีบคั้น จึงจะเห็นได้ว่า นี่คือจิตวิญญาณของไต้หวัน
รองปธน.เซียวฯ ยังชี้ว่า นโยบายความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคมที่ผลักดันโดยรัฐบาล ยังแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณของความทรหด โดยรองปธน.เซียวฯ คาดหวังที่จะเห็นสปิริตดังกล่าวถูกนำไปใช้ในภาคส่วนต่างๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานของประเทศชาติ เศรษฐกิจ สังคม ประชาธิปไตยและความมั่นคงทางไซเบอร์ เป็นต้น
เพื่อขานรับกิจกรรมวันเด็กหญิงไต้หวัน อนุสรณ์สถานซุนยัดเซ็น ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคม 2567 ซึ่งประกอบด้วย การจัดแสดงสินค้าในรูปแบบตลาดนัด ภายใต้แคมเปญ So Good Market การแสดงศิลปะเทควันโด การเปิดฉายผลงานภาพยนตร์เรื่อง “Frozen” และผลงานการ์ตูนแอนิเมชันเรื่องแรกของอนุสรณ์สถานแห่งชาติซุนยัดเซ็น ในชื่อ “Ripples of Justice”
“Ripples of Justice” มีเนื้อหาสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวหลังการประกาศกฎอัยการศึกของไต้หวัน เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีค.ศ. 1987 โดยกลุ่มพนักงานหญิงที่ทำงานในอนุสรณ์สถานแห่งชาติซุนยัตเซ็น จำนวน 57 คน ตัดสินใจที่จะประท้วงกฎระเบียบว่าด้วย “การครองโสดและห้ามตั้งครรภ์” รวมไปถึงการบังคับให้สตรีต้องลาออกจากงาน เมื่ออายุครบ 30 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ จึงได้ร้องขอความช่วยเหลือจากทนายความในการยื่นฟ้องสิทธิ์ที่พนักงานพึงมีต่ออนุสรณ์สถานฯ ซึ่งขณะนั้น มูลนิธิ Fight for Gender Equality ก็รวมอยู่ในกลุ่มนักเคลื่อนไหวนั้นๆ ด้วย ในท้ายที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ ส่งสารให้สถาบันการศึกษาและสังคมทุกหน่วยงาน ยกเลิกสัญญาจ้างที่ห้ามมิให้พนักงานหญิงตั้งครรภ์และต้องออกจากงานทันที เมื่ออายุครบ 30 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จึงจะเห็นได้ว่า การเคลื่อนไหวทางสังคมในครั้งนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเคลื่อนไหวทางการบัญญัติกฎหมายใน “กฎระเบียบว่าด้วยการประกอบอาชีพที่ยึดมั่นในหลักแห่งความเสมอภาคทางเพศ”