ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับคณะตัวแทนที่นำโดย Mr. Thibaut Bruttin ผู้อำนวยการองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน
2024-10-17
New Southbound Policy。ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับคณะตัวแทนที่นำโดย Mr. Thibaut Bruttin ผู้อำนวยการองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับคณะตัวแทนที่นำโดย Mr. Thibaut Bruttin ผู้อำนวยการองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 16 ต.ค. 67
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 16 ตุลาคม ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ Mr. Thibaut Bruttin ผู้อำนวยการองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (Reporters Sans Frontières: RSF) พร้อมด้วยคณะ โดยปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันในปัจจุบันนอกจากจะเป็นศูนย์กลางเสรีภาพสื่อในภูมิภาคเอเชียแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางของสื่อนานาชาติในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกอีกด้วย ไต้หวันตั้งอยู่ในแนวหน้าของการปกป้องประชาธิปไตย มีความมุ่งมั่นในการปกป้องค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพอย่างเต็มกำลัง โดยในอนาคต คาดหวังที่จะสวมบทบาทที่กระตือรือร้นในประชาคมโลก พร้อมมุ่งมั่นต่อสู้เพื่อความยั่งยืนทางประชาธิปไตยและเสรีภาพสื่อโลก ร่วมกับองค์กร RSF และพันธมิตรด้านประชาธิปไตยโลกต่อไป
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวให้การต้อนรับ Mr. Bruttin ที่นำคณะตัวแทนเดินทางเยือนไต้หวันเป็นครั้งแรก หลังการเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า เมื่อ 7 ปีที่แล้ว องค์กร RSF ได้จัดตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกขึ้น ณ ไต้หวัน พวกเรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้ประสานความมุ่งมั่นร่วมกับทุกท่าน เพื่อสร้างคุณประโยชน์ที่เพิ่มพูนให้แก่เสรีภาพสื่อในภูมิภาคเอเชีย
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยและแสวงหาซึ่งเสรีภาพ สปิริตด้านประชิปไตยและเสรีภาพได้รับการปลูกฝังให้อยู่ใน DNA ของพวกเรา หลายปีมานี้ ความมุ่งมั่นของไต้หวันได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกโดยถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นดัชนีประชาธิปไตยหรือการประเมินค่าดัชนีทางเสรีภาพ ไต้หวันก็ยังคงอยู่ในอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชีย “ดัชนีเสรีภาพสื่อโลก” ที่ประกาศโดยองค์กร RSF ในปีนี้ ไต้หวันครองอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย และก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 27 ของโลก ซึ่งนับว่าเป็นอันดับที่ดีที่สุด นับตั้งแต่ที่มีการจัดให้ไต้หวันเข้าสู่กลไกการประเมินเป็นต้นมา
 
ปธน.ไล่ฯ ระบุว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการถูกโจมตีด้วยข่าวปลอมที่รุนแรงที่สุดในโลก หลายปีมานี้ รัฐบาลมุ่งมั่นจัดตั้งระบบคุ้มครองความมั่นคงทางไซเบอร์ที่ครอบคลุม โดยองค์การนอกภาครัฐยังได้จัดทำนโยบายเกี่ยวกับข่าวปลอม ขณะนี้ พวกเราได้ทำการจัดตั้ง “คณะกรรมการความทรหดทางสังคมแห่งชาติ” เพื่อผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ในการเสริมสร้างความทรหดให้แก่ของประเทศชาติ เพื่อรับมือกับการโจมตีด้วยข่าวปลอมและความท้าทายนานาประการ
 
ปธน.ไล่ฯ เน้นย้ำว่า เมื่อเผชิญหน้ากับข่าวปลอมที่ทะลักเข้ามาเป็นจำนวนมาก บวกกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ไต้หวันต้องการความสนับสนุนจากประชาคมโลก ซึ่งขณะเดียวกัน โลกเราก็ต้องการไต้หวันเช่นเดียวกัน โดยพวกเราคาดหวังที่จะเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับนานาประเทศทั่วโลก เพื่อสร้าง “เกราะป้องกันทางประชาธิปไตย” อันจะนำไปสู่การธำรงรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตในรูปแบบประชาธิปไตยและเสรีภาพให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
 
ในลำดับต่อมาเป็นการกล่าวปราศรัยของ Mr. Bruttin ซึ่งระบุว่า การตัดสินใจจัดตั้งสำนักงานแห่งแรกในเอเชียที่ไต้หวัน เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เนื่องจากข้อมูลที่นำเสนอโดยไต้หวัน นอกจากจะตั้งอยู่บนหลักการเสรีภาพและความหลากหลายแล้ว องค์กร RSF ยังพร้อมที่จะยืนหยัดเคียงข้างสื่อโซเชียลที่เปี่ยมเสรีภาพ ความเป็นเอกภาพและความหลากหลายต่อไป
 
ไต้หวันครองอันดับหนึ่งในภูมิภาคเอเชียใน “ดัชนีเสรีภาพสื่อโลก” และถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก ถือเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ไต้หวันมุ่งสร้างเพื่อประชาสังคม ตลอดจนส่งเสริมให้มีการพัฒนาในระหว่างการผลักดันนโยบายสาธารณะที่สอดคล้องกับหลักการระหว่างประเทศ
 
นอกจากนี้ Mr. Bruttin ยังได้ระบุถึงมิติความร่วมมือที่คาดหวังจะประสานความร่วมมือกับไต้หวันต่อไปในภายภาคหน้า ประการแรก เนื่องจากข้อมูลบนสื่อโซเชียลและแพลตฟอร์ม ใช่ว่าจะสามารถไว้วางใจได้เสมอไป จึงคาดหวังที่จะกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อยุติสถานการณ์ความวุ่นวายทางดิจิทัล ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมสื่อแล้ว ยังเป็นการคุ้มครองประชาชนผู้รับข่าวสารอีกด้วย ประการที่สอง ส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของสื่อ โดยหวังที่จะกำหนดกฎระเบียบที่เหมาะสมในการคุ้มครองภาคประชาชน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของสื่อมวลชน เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีความแม่นยำ ตลอดจนกระตุ้นให้สื่อมีความสอดคล้องกับกฎระเบียบด้านจริยธรรม ซึ่ง Mr. Bruttin คิดเห็นว่า พวกเรายังสามารถเสริมสร้างบทบาทสื่อสาธารณะ ในการจัดตั้งสภาพแวดล้อมสื่อที่ภาคประชาชนสามารถเชื่อถือได้
 
Mr. Bruttin กล่าวเพิ่มเติมว่า ประการที่สามคือการเผยแพร่สถานการณ์การแทรกแซงต่อสื่อจากอิทธิพลภายนอก พร้อมทำความเข้าใจกับพฤติกรรมการแทรกแซงของข่าวปลอม รวมไปถึงกลยุทธ์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง การคำนึงถึงปัจจัยทางการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ผู้ดำเนินการและแหล่งที่มาของงบประมาณ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อไต้หวันแล้ว ยังเป็นประเด็นปัญหาระดับสากล พวกเราจำเป็นต้องประสานความร่วมมือกันเพื่อขจัดปัญหาเหล่านี้ให้สิ้นซากโดยเร็ววัน