กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 17 ต.ค. 67
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ตามเวลาในฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ นายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้รับเชิญให้แสดงปาฐกถาพิเศษด้วยการบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้าในการประชุมประจำปีของ “สถาบันวิจัยไต้หวันโลก” (Global Taiwan Institute, GTI) ซึ่งเป็นคลังสมองในกรุงวอชิงตัน ดีซี โดยรมว.หลินฯ ได้กล่าวถึงความท้าทายอย่างรุนแรงในปัจจุบันที่กลุ่มลัทธิอำนาจนิยมได้ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ พร้อมแสดงความชื่นชมต่อสหรัฐฯ ที่สามารถจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ไต้หวันในฐานะสมาชิกที่ขาดไม่ได้ของประชาคมโลก จึงหวังที่จะผลักดัน “การทูตเชิงบูรณาการ” เพื่อร่วมรับมือกับความท้าทายนานาประการร่วมกับสหรัฐฯ ต่อไป
รมว.หลินฯ เห็นว่า จีนได้เพิ่มการข่มขู่ทางทหารต่อไต้หวัน พร้อมทั้งใช้กลยุทธ์ “สงครามสามด้าน” ได้แก่ กฎหมาย สื่อ และการรับรู้ เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวัน นอกจากนี้ จีนยังพยายามสร้าง "ความปกติใหม่" ในช่องแคบไต้หวันผ่านการดำเนินการในพื้นที่สีเทา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคและช่องแคบไต้หวัน ไต้หวันขอขอบคุณสหรัฐฯ สำหรับการสนับสนุนความมั่นคงของไต้หวันอย่างเต็มที่ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือไต้หวันผ่าน "เงินช่วยเหลือทางการทหารต่างประเทศ" (Foreign Military Financing, FMF) และ "การมอบความช่วยเหลือเพิ่มเติมผ่านการใช้อำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ" (Presidential Drawdown Authority, PDA) ในขณะเดียวกัน ไต้หวันก็เพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและเสริมสร้างความยืดหยุ่นในด้านกลาโหม
รมว.หลินฯ กล่าวว่า ภารกิจการทูตด้านเศรษฐกิจและการค้าที่ตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานความเจริญรุ่งเรือง เป็นภารกิจที่สำคัญของการทูตเชิงบูรณาการ โดยรมว.หลินฯ หวังว่าในอนาคต ไต้หวัน - สหรัฐฯ จะมุ่งเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบบห่วงโซ่อุปทาน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่สำคัญ ผ่านกลไกการเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ (EPPD) นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีพันธกิจในการส่งมอบความช่วยเหลือให้กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ภายใต้แนวคิด “1+1 เท่ากับ 3” พร้อมทั้งขยายความร่วมมือกับนานาประเทศผ่านกรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) เพื่อรับมือกับปัญหาและความท้าทายในระดับสากล ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ว่าด้วย “การเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตร” ไปสู่ “การสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศพันธมิตร” รมว.หลินฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันต้องการความสนับสนุนจากประชาคมโลก แต่ในขณะเดียวกัน โลกก็ต้องการไต้หวันเช่นเดียวกัน พวกเราจะมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับสหรัฐฯ ประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศอย่างแนบแน่นต่อไป เพื่อส่งเสริมแนวคิดด้านการทูตเชิงบูรณาการ ตลอดจนขยายการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศต่อไป
GTI เป็นคลังสมองแห่งแรกในวอชิงตันที่มุ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับไต้หวันเป็นหลัก โดยหัวข้อการประชุมในปีนี้คือ “ความสัมพันธ์ไต้หวัน - สหรัฐฯ : ความเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นท่ามกลางความปั่นป่วนทั่วโลก” (US-Taiwan Relations: An Ironclad Partnership in a Period of Global Disruption) โดยมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือทางกลาโหมและความมั่นคง ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ สถานการณ์การเลือกตั้งครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ และภัยคุกคามที่เกิดจากกลยุทธ์พื้นที่สีเทา รวมไปถึงปัจจัยทางการเมืองในเชิงภูมิรัฐศาสตร์