ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ทำเนียบปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ประกาศแต่งตั้งหลินซิ่นอี้ เป็นตัวแทนผู้นำไต้หวัน เข้าร่วมการประชุม AELM ภายใต้กรอบเอเปค (APEC) ปีนี้
2024-10-22
New Southbound Policy。ทำเนียบปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ประกาศแต่งตั้งหลินซิ่นอี้ เป็นตัวแทนผู้นำไต้หวัน เข้าร่วมการประชุม AELM ภายใต้กรอบเอเปค (APEC) ปีนี้ (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ทำเนียบปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ประกาศแต่งตั้งหลินซิ่นอี้ เป็นตัวแทนผู้นำไต้หวัน เข้าร่วมการประชุม AELM ภายใต้กรอบเอเปค (APEC) ปีนี้ (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 21 ต.ค. 67
 
“การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค” (APEC Economic Leaders' Meeting, AELM) ประจำปี พ.ศ. 2567 มีกำหนดการเปิดฉากขึ้น ณ เมืองลิมาแห่งสาธารณรัฐเปรู ในช่วงระหว่างวันที่ 15 – 16 พฤศจิกายน 2567 โดยนางกัวหย่าฮุ่ย โฆษกทำเนียบประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้แต่งตั้งให้นายหลินซิ่นอี้ ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท Taiwania Capital  เป็นตัวแทนของผู้นำไต้หวัน เข้าร่วมการประชุม AELM ภายใต้กรอบเอเปค (APEC) ประจำปีพ.ศ. 2567
 
ปัจจุบัน นายหลินฯ มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาระดับอาวุโสประจำทำเนียบปธน.และเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจของสภาบริหารไต้หวัน มีประสบการณ์การทำงานทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เปี่ยมด้วยความเชี่ยวชาญด้านการกำหนดและบังคับใช้นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าระดับประเทศ
 
ก่อนหน้านี้ นายหลินฯ ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมเอเปค เป็นจำนวน 3 ครั้ง จึงมีความคุ้นเคยต่อการบริหารงานและประเด็นของกรอบความร่วมมือเอเปค โดยการประชุมที่จัดขึ้นในบรูไน เมื่อปี พ.ศ.2543 และการประชุมที่จัดขึ้นในนครเซี่ยงไฮ้ เมื่อปี พ.ศ. 2544 นายหลินฯ ได้เป็นตัวแทนไต้หวันเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting, AMM) และในปี พ.ศ. 2548 ก็ได้รับการแต่งตั้งจากอดีตประธานาธิบดีเฉินสุ่ยเปี่ยน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้นำไต้หวัน นำคณะเข้าร่วมการประชุม AELM ที่จัดขึ้นในเมืองปูซาน เกาหลีใต้ ซึ่งภารกิจข้างต้นเหล่านี้ ต่างก็ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายอย่างราบรื่น
 
หัวข้อการประชุมภายใต้กรอบเอเปคที่จัดขึ้นในเปรูประจำปีนี้ คือ “การส่งเสริมสิทธิอันชอบธรรม การยอมรับซึ่งกันและกัน การเติบโต” (Empower. Include. Grow.) ซึ่งนโยบายใน 3 ประเด็นหลักๆ ประกอบด้วย การค้าและการลงทุนเพื่อการเติบโตที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกัน (Trade and investment for inclusive and interconnected growth) การใช้นวัตกรรมและเครื่องมือทางดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจแบบเป็นทางการและมุ่งสู่ระดับสากล (Innovation and digitalization to promote transition to the formal and global economy) และการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยืดหยุ่น (Sustainable growth for resilient development) เป็นต้น ซึ่งเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญที่รัฐบาลไต้หวันกำลังมุ่งพัฒนาอย่างกระตือรือร้น ประกอบกับหลายปีมานี้ เอเปคให้ความสำคัญต่อการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โฆษกกัวฯ กล่าวว่า ปธน.ไล่ฯ ได้มอบหมายให้นายหลินฯ เข้าร่วม ด้วยความหวังว่า นายหลินฯ จะสามารถใช่ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญที่สั่งสม มาใช้ในการอธิบายเนื้อหานโยบายของรัฐบาลไต้หวันอย่างครบถ้วน เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของไต้หวันและทำให้ไต้หวันได้รับความสนใจจากกลุ่มประเทศสมาชิกอย่างมีประสิทธิภาพ
 
นับตั้งแต่ที่ไต้หวันเข้าร่วมเป็นสมาชิกเอเปค ในปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา ก็ได้เข้ามีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมและการประชุมอย่างกระตือรือร้น ซึ่งนอกจากจะจัดการอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องแล้ว ในอนาคตยังจะแสวงหาโอกาสความร่วมมือในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งพัฒนาการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลสีเขียว นวัตกรรมดิจิทัล สุขภาพดิจิทัล การพัฒนาเติบโตของกลุ่มผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มสตรี การพัฒนาเติบโตอย่างครอบคลุมและความมั่นคงทางอาหาร ทั้งนี้ เพื่อร่วมจับมือกันสรรสร้างความเจริญรุ่งเรืองที่ยั่งยืน ตลอดจนอุทิศคุณประโยชน์ที่เกิดจากศักยภาพและความสมัครใจของไต้หวัน ด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรม