ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 24 ต.ค. 67
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ทำหน้าที่เป็นประธานใน “การประชุมคณะกรรมการด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 2” โดยปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ขณะนี้ ทั่วโลกต่างกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและมุ่งสู่การลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ไต้หวันในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยีระดับสากล จึงมีความจำเป็นต้องเข้าร่วมขบวนการผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เพื่อยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในระดับนานาชาติ และเชื่อมโยงเข้าสู่กระบวนการลดคาร์บอนระดับสากล โดยพวกเรามีความยินดีที่จะประสานความร่วมมือกับนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงจีน เพื่อร่วมเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
ปธน.ไล่ฯ แถลงว่า ทิศทางนโยบายของรัฐบาลไต้หวันมีความชัดเจนมาก นั่นก็คือต้องการผลักดัน “การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ครั้งที่ 2” เพื่อสร้างหลักประกันด้านเสถียรภาพและความยืดหยุ่นในระบบห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงาน โดยในอนาคต จะมุ่งผลักดันนโยบายประหยัดพลังงาน พร้อมทั้งส่งเสริมให้อุตสาหกรรมทุกแขนงสาขา ร่วมผลักดัน “กลไกการประหยัดพลังงานเชิงลึก” ด้วยการจัดตั้งมาตรการกระตุ้น อาทิ การให้เงินลงทุนสนับสนุน เครดิตภาษีเพื่อการลงทุนและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมร่วมประหยัดพลังงาน ควบคู่ไปกับการผลักดันกลไกเทคโนโลยีด้านพลังงาน-ในรูปแบบของบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO)
ขณะนี้ ทั่วโลกต่างกำลังเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่นับวันยิ่งแปรปรวนมากขึ้นทุกที “ความตกลงปารีส ปี พ.ศ. 2558” ได้เรียกร้องให้นานาประเทศรายงานความคืบหน้าใน “การสร้างคุณประโยชน์ว่าด้วยการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution, NDC) ทุกๆ 5 ปี ซึ่งการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP 26) ได้มีการเรียกร้องให้นานาประเทศเพิ่มความถี่ในการรายงาน เป็น 2 ปีต่อครั้ง เพื่อเร่งกระบวนการลดคาร์บอนระดับสากล ส่วนสำหรับการรายNDC ในรอบถัดไป มีกำหนดจัดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า
ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงจำเป็นต้องประสานสามัคคี เพื่อสรรสร้างไต้หวันที่มีความยืดหยุ่นที่สามารถรับมือกับความท้าทายและสามารถเชื่อมโยงสู่ประชาคมโลกได้
อย่างไรก็ตาม พลังงานที่ดีที่สุดคือการประหยัดพลังงาน การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไต้หวัน จำเป็นต้องอาศัยภาคอุตสาหกรรมและเงินลงทุนจากต่างประเทศ มาลงทุนในไต้หวันอย่างต่อเนื่อง แต่เราก็ต้องสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าเสียก่อน การประหยัดพลังงานจะเกิดประสิทธิผลได้มากกว่าการบุกเบิกและแสวงหาพลังงานใหม่ และเป็นแนวทางสำคัญที่มีประสิทธิภาพทางต้นทุนมากที่สุด และเป็นหนึ่งในแนวทางกลยุทธ์การลดคาร์บอนที่เปี่ยมประสิทธิภาพมากที่สุด
ผลสรุปของการประชุม COP 28 เมื่อปีที่แล้ว คือการเพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโลกจาก 2 % ให้เพิ่มขึ้นเป็น 4% ภายในปี พ.ศ. 2573
ในอนาคต รัฐบาลจะทยอยผลักดันนโยบายเพื่อกระตุ้นการประหยัดพลังงาน ด้วยการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมทุกแขนงมุ่งผลักดัน “การประหยัดพลังงานเชิงลึก” โดยกำหนดให้สถานพยาบาล สถานศึกษา หรือแม้กระทั่งครัวเรือนหรือตัวบุคคล เข้ามีส่วนร่วม ควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้กลไกของ ESCO เพื่อส่งเสริมให้มีความครอบคลุมและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
การจัดการประชุมในครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อระดมความคิดและความเชี่ยวชาญจากคณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการ ในการร่วมอภิปรายหลากหลายมิติ นอกจากนี้ ยังสามารถอ้างอิงจากประสบการณ์ด้านนวัตกรรมและแผนปฏิบัติการในด้านการเติบโตสีเขียวของอังกฤษและญี่ปุ่น ซึ่งจากการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมในครั้งนี้ เชื่อว่า พวกเราจะสามารถมุ่งผลักดันไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น