ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 1 พ.ย. 67
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นายไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศแห่งรัฐสภาเอสโตเนีย” โดยปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลเอสโตเนีย ที่มุ่งให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างหนักแน่นเสมอมา
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า การมาเยือนของคณะตัวแทน แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - เอสโตเนีย ที่นับวันจะแนบแน่นมากขึ้นเป็นลำดับ เชื่อว่าด้วยพลังสนับสนุนและความช่วยเหลือจากสมาชิกคณะฯ ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนที่ตั้งมั่นอยู่บนค่านิยมด้านเสรีภาพและประชาธิปไตย และความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างสองฝ่าย จะได้รับการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า สถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันและสถานการณ์ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ค่านิยมสากลด้านเสรีภาพและประชาธิปไตย และความสงบเรียบร้อยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานกฎกติกาสากล ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เกิดจากการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ภายใต้ช่วงเวลาเช่นนี้ กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันจึงควรสามัคคีและร่วมมือกัน จึงจะสามารถสร้างหลักประกันด้านสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นในระดับสากลต่อไป
ปธน.ไล่ฯ ระบุว่า ไต้หวันนอกจากจะมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับนานาประเทศอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังยืนหยัดในการธำรงปกป้องค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ ควบคู่ไปกับการคว้าสิทธิ์ในการเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศอย่างกระตือรือร้น ทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เนื่องจากสิทธิ์การเข้าร่วมในเวทีนานาชาติ ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวไต้หวัน จำนวน 23 ล้านคนแล้ว อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า ไต้หวันมีความรับผิดชอบ มีศักยภาพและยินดีที่จะอุทิศคุณประโยชน์ในด้านต่างๆ ให้แก่ประชาคมโลกสืบต่อไป
ปธน.ไล่ฯ ยังใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลเอสโตเนีย ที่ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ Ms. Riina Sikkut รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังได้ร่วมแสดงความยินดีกับ Ms. Kaja Kallas นายกรัฐมนตรีเอสโตเนีย ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น “ตัวแทนระดับสูงด้านนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรป” ซึ่งสะท้อนให้เห็นแล้วว่า เอสโตเนียสวมบทบาทที่สำคัญในการผนึกพลังสามัคคี ระหว่างสหภาพยุโรปและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันระดับสากล
จากนั้น Mr. Marko Mihkelson ประธานคณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศแห่งรัฐสภาเอสโตเนีย ได้ขึ้นกล่าวปราศรัย โดยระบุว่า ประเด็นที่หยิบยกขึ้นเจรจากับปธน.ไล่ฯ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย แนวทางการยกระดับความสัมพันธ์แบบทวิภาคี เนื่องด้วยขณะนี้ ทั่วโลกกำลังอยู่ระหว่างการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่วุ่นวาย เอสโตเนีย – ไต้หวันต่างก็เป็นประเทศที่มี่แนวคิดคล้ายคลึงกัน ส่งผลให้ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีพัฒนาการที่รุดหน้าอย่างเด่นชัด ประกอบกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐของทั้งสองฝ่ายยังได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนและไปมาหาสู่กันบ่อยครั้ง จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าไต้หวัน – เอสโตเนีย จะเร่งเปิดการเจรจาว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนรัฐบาลขึ้นในดินแดนระหว่างกันโดยเร็ววัน
Mr. Mihkelson กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ นอกจากจะเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับไต้หวันแล้ว ยังจะแสวงหาพลังสนับสนุนจากพันธมิตรด้านประชาธิปไตยที่มีต่อยูเครน เนื่องจากผลของสงครามรัสเซีย - ยูเครนในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่มีส่วนเกี่ยวพันกับความมั่นคงของกลุ่มประเทศรายรอบเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไต้หวันด้วย
ในวันเดียวกันนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังได้ให้การต้อนรับ “คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศและการพัฒนาแห่งสภาผู้แทนราษฎรเนเธอร์แลนด์” โดยปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อสภาผู้แทนราษฎร สำหรับการสนับสนุนที่มีต่อไต้หวัน พร้อมทั้งกระตุ้นให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เฝ้าจับตาต่อสถานการณ์ด้านสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน ควบคู่ไปกับการมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับไต้หวัน พร้อมนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังได้ชี้แจงว่า ไต้หวัน – เนเธอร์แลนด์ ต่างยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตย เสรีภาพ และหลักการยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างแลกเปลี่ยนกันอย่างใกล้ชิดทั้งในด้านเซมิคอนดักเตอร์ พลังงานหมุนเวียน และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยปธน.ไล่ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งสองฝ่ายจะมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การค้าดิจิทัล ความมั่นคงทางไซเบอร์ และการเกษตรรูปแบบนวัตกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันจัดตั้งระบบห่วงโซ่ด้านประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งและเปี่ยมเสถียรภาพ ตลอดจนเป็นการธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานกฎกติกาสากล ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
ปธน.ไล่ฯ แถลงว่า ปีนี้เป็นปีแห่งการครบรอบ 400 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – เนเธอร์แลนด์ โดยเนเธอร์แลนด์ได้กำหนดให้ปีนี้เป็น “ปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางนวัตกรรมและวัฒนธรรม ระหว่างไต้หวัน - เนเธอร์แลนด์” ซึ่งการมาเยือนของทุกท่าน ล้วนแต่เป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือแบบทวิภาคี ไต้หวัน – เนเธอร์แลนด์ ให้ดำเนินไปในทิศทางเชิงลึกต่อไป
ปธน.ไล่ฯ ได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อพลังสนับสนุนที่สภาผู้แทนราษฎรเนเธอร์แลนด์มีต่อไต้หวัน เฉพาะในปีนี้ สภาผู้แทนราษฎรเนเธอร์แลนด์ได้มีมติเห็นชอบญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน 3 รายการ โดยในจำนวนนี้ เนเธอร์แลนด์ถือเป็นประเทศแรกในทวีปยุโรป ที่ผ่านญัตติเกี่ยวกับการต่อต้านการจำกัดสิทธิ์การเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศของไต้หวัน ที่ระบุไว้ในญัตติที่ประชุมสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ทั้งนี้ เพื่อยับยั้งความเข้าใจผิด ที่เกิดจากการตีความญัตติในทิศทางที่บิดเบือนกับข้อเท็จจริง
Ms. Aukje de Vries ประธานคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศและการพัฒนาแห่งสภาผู้แทนราษฎรเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ ก็เพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคมและประเด็นสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน
Ms. Aukje de Vries ระบุว่า ไต้หวัน – เนเธอร์แลนด์ มีส่วนที่คล้ายคลึงกันหลายประการ และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างแนบแน่น เริ่มจากประการแรก ทั้งสองฝ่ายต่างยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตยที่เจริญรุ่งเรือง เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชน เสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการสมาคม ตลอดจนให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ประการที่สอง พวกเรามีค่านิยมที่ยึดมั่นร่วมกัน และพร้อมปรับปรุงเงื่อนไขและยกระดับสภาพแวดล้อมด้านการทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม ประการสุดท้าย ทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นในด้านเศรษฐกิจแบบทวิภาคี ไต้หวันเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเนเธอร์แลนด์ในทวีปเอเชีย ซึ่งนำหน้าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
Ms. Aukje de Vries กล่าวว่า หน้าที่ของพวกเราคือ การตรวจสอบนโยบายของกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและการพัฒนาของเนเธอร์แลนด์ โดยประเด็นที่ร่วมอภิปรายกันในครั้งนี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพวกเรา โดยนโยบายข้างต้นครอบคลุมในด้านต่างๆ ทั้งการค้า การลงทุน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility, CSR) สิทธิมนุษยชน เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างกลไกการตรวจสอบที่มีต่อรัฐบาล ซึ่งรวมไปถึงนโยบายที่เกี่ยวกับไต้หวันและภูมิภาคนี้ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน