ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไทเปเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม รมช. วิทยาศาสตร์ไต้หวัน - ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 9 เน้นหารือด้านความร่วมมือในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใน 4 มิติหลัก
2024-11-11
New Southbound Policy。ไทเปเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม รมช. วิทยาศาสตร์ไต้หวัน - ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 9 เน้นหารือด้านความร่วมมือในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใน 4 มิติหลัก (ภาพจากคณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)
ไทเปเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม รมช. วิทยาศาสตร์ไต้หวัน - ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 9 เน้นหารือด้านความร่วมมือในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ใน 4 มิติหลัก (ภาพจากคณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)

คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันที่ 8 พ.ย. 67
 
การประชุมคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับเจ้าหน้าที่รัฐมนตรีช่วยว่าการ ไต้หวัน - ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 9 มีกำหนดการเปิดฉากขึ้น ณ กรุงไทเป เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 โดยมีนายเฉินปิ๋งอวี่ รองประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ Ms. Leah J. Buendiab รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเทคโนโลยีของฟิลิปปินส์ ร่วมทำหน้าที่เป็นประธาน โดยเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมพิจารณาผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์แบบทวิภาคี  ควบคู่ไปกับการหารือเกี่ยวกับทิศทางความร่วมมือในอนาคต โดยหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายโจวหมินกั้น ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำฟิลิปปินส์และ Ms. Cheloy E. Velicaria-Garafil ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกรุงมะนิลาประจำกรุงไทเป ร่วมลงนามในรายงานบันทึกการประชุม โดยมีนายเฉินฯ และ Ms. Buendia เป็นสักขีพยาน
 
นับตั้งแต่ที่ไต้หวัน - ฟิลิปปินส์ร่วมลงนามระหว่างกันเป็นต้นมา ทั้งสองฝ่ายได้มุ่งมั่นประสานความร่วมมือกันมาตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลัดกันเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา โดยนายเฉินฯ กล่าวว่า การประชุมประจำปีถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะทั้งสองฝ่ายต่างมีสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน หลายปีมานี้ ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนมีส่วนช่วยในการบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ รมช. Buendia กล่าวว่า รูปแบบความร่วมมือด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของไต้หวัน - ฟิลิปปินส์ มีความหลากหลาย และบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่น่าพึงพอใจเป็นจำนวนมาก จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายสร้างความร่วมมือให้มากขึ้น บนพื้นฐานที่มีอยู่เดิมในปัจจุบัน
 
การประชุมประจำปี ระหว่างไต้หวัน - ฟิลิปปินส์ แบ่งออกเป็น 4 มิติหลัก ได้แก่ : “ภูเขาไฟ ทะเล พายุไต้ฝุ่นและแผ่นดินไหว” (Volcano, Ocean, Typhoon, and Earthquake, VOTE) “การแพทย์ การเกษตร และการบ่มเพาะบุคลากร” (Health, Agriculture and Training Initiative, HAT) “โครงการวิจัยร่วม ไต้หวัน - ฟิลิปปินส์” (Joint Research Program, JRP) และ “โครงการทุนแซนด์วิช ไต้หวัน - ฟิลิปปินส์” (Sandwich Scholarship Program, SSP) โดยในระหว่างการประชุมได้มีการพิจารณาทบทวนสถานการณ์ความคืบหน้าของ 4 รายการย่อยในเฟซที่ 3 ของโครงการ VOTE และ 5 รายการในเฟซที่ 2 ของโครงการ HAT นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุม ยังได้มีการลงมติอนุมัติ 5 รายการในโครงการวิจัยแบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน – ฟิลิปปินส์ ที่มีกำหนดปฏิบัติการในปี พ.ศ. 2568 พร้อมทั้งร่วมอภิปรายในประเด็นการเปิดรับสมัครผลงานเข้าร่วมการประกวดและตารางเวลาการดำเนินภารกิจ ประจำปี 2568 โดยมีนักวิชาการทั้งสองฝ่ายร่วมดำเนินโครงการวิจัยข้างต้น เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือด้านการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ โดยทั้งสองฝ่ายยังจะร่วมจัด “โครงการทุนการศึกษาแซนด์วิช ไต้หวัน - ฟิลิปปินส์” โดยหวังว่าจะดึงดูดบุคลากรรุ่นใหม่ด้านการวิจัยชาวฟิลิปปินส์ ให้เดินทางมาเข้าร่วมทำการวิจัยในไต้หวัน เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทางบุคลากรด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระหว่างกัน