ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันเปิดตัววีดิทัศน์เรียกร้องขอเข้าร่วมการประชุม UNFCCC เรื่อง “อนาคตของจุดสีฟ้า (Pale Blue Dot)”
2024-11-12
New Southbound Policy。กต.ไต้หวันเปิดตัววีดิทัศน์เรียกร้องขอเข้าร่วมการประชุม UNFCCC เรื่อง “อนาคตของจุดสีฟ้า (Pale Blue Dot)” (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
กต.ไต้หวันเปิดตัววีดิทัศน์เรียกร้องขอเข้าร่วมการประชุม UNFCCC เรื่อง “อนาคตของจุดสีฟ้า (Pale Blue Dot)” (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 11 พ.ย. 67
 
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 (UNFCCC COP 29) มีกำหนดการเปิดฉากขึ้น ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 เพื่อแสวงหาพลังสนับสนุนจากประชาคมโลก กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้เปิดตัวผลงานวีดิทัศน์ เรื่อง “อนาคตของจุดสีฟ้า (Pale Blue Dot)” โดยใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ผลิตขึ้นในไต้หวัน มาผสมผสานเข้ากับสถานการณ์จริงในชีวิตปัจจุบัน เพื่อนำเสนอความมุ่งมั่นของไต้หวันในการให้ความช่วยเหลือด้านการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศให้แก่กลุ่มพันธมิตร พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของไต้หวัน และเปิดรับให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม UNFCCC
 
วีดิทัศน์ของปีนี้ได้เข้าไปถ่ายทำใน “ศูนย์อวกาศแห่งชาติไต้หวัน”(TASA) โดยนำเอาภาพที่ถ่ายจากดาวเทียม Formosat-5 ที่ผลิตขึ้นในไต้หวัน โดยใช้มุมมองในการมองโลกสีฟ้าจากบนอวกาศ มาผสมผสานเข้ากับภาพที่ไต้หวันให้ความช่วยเหลือกลุ่มประเทศพันธมิตรในแผนปฏิบัติการเพื่อปรับตัวรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของไต้หวันที่มุ่งสร้างคุณประโยชน์ในด้านการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ อันเป็นการขานรับต่อหัวข้อการประชุมประจำปีนี้ -ร่วมแรงร่วมใจเพื่อโลกสีเขียว (In Solidarity for a Green World) เพื่อถ่ายทอดเจตนารมณ์ที่ว่า ไต้หวันยินดีร่วมแสวงหาความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับหุ้นส่วนทั่วโลก
 
โดยในวีดิทัศน์ยังได้มีการนำเสนอโครงการความร่วมมือ ระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วย การให้ความช่วยเหลือแก่เบลีซ ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกากลาง ในการติดตั้งระบบการเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับอุทกภัยได้อย่างยืดหยุ่น นอกจากนี้ ไต้หวันได้ให้ความช่วยเหลือเอสวาตินี ซึ่งเป็นประเทศในทวีปแอฟริกา ในการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพอากาศ และระบบเกษตรอัจฉริยะ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ ตลอดจนยังมอบความช่วยเหลือให้แก่ปาเลา ในด้านการฟื้นฟูแนวปะการัง และการจัดตั้งระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบบูรณาการ เพื่อผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีน้ำเงิน
 
ในช่วงท้ายของวีดิทัศน์ได้มีการนำเสนอภาพทัศนศิลป์ของแผนผลักดันการเข้าร่วม UNFCCC ของไต้หวันในปีนี้ โดยอาศัยแผ่นชิปวงจรรวมสีสันสดใส ร่างเป็นรูปแผนที่ไต้หวัน พร้อมทั้งผนวกรวมหัวข้อการประชุมปีนี้และสโลแกนการเข้าร่วมของไต้หวันว่า In Solidarity for a Green World ซึ่งนอกจากจะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงข้อได้เปรียบของไต้หวันในด้านแผ่นชิป (Chips) แล้ว ยังเป็นการประยุกต์ใช้คำพ้องรูปกับคำว่า “Chip in” ที่แปลว่าการเข้าร่วม เพื่อถ่ายทอดให้ประชาคมโลกรับรู้ว่า ไต้หวันจะประสานความร่วมมือกับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง ในการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ด้วยศักยภาพทางเทคโนโลยีและจิตวิญญาณการสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรม เพื่อสร้างคุณประโยชน์ที่ยั่งยืนให้แก่ประชาชาติอย่างกระตือรือร้นต่อไป
 
วีดิทัศน์ข้างต้นแบ่งเป็น ฉบับเต็มแบบ 2.30 นาที และฉบับสั้น 30 วินาที ซึ่งนอกจากจะจัดทำคำบรรยายเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษแล้ว ยังได้มีการจัดทำเป็นเวอร์ชันภาษาต่างประเทศ 12 ภาษา ประกอบด้วย ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส อาหรับ เวียดนาม ไทย อินโดนีเซียและยูเครน โดยจะเผยแพร่ให้แก่สื่อมวลชนทั่วโลกผ่านช่องทางออนไลน์พร้อมกัน และยังได้อัปโหลดไว้บนเว็บไซต์ของ กต.ไต้หวัน และ Youtube Channel ช่อง Trending Taiwan แฟนเพจของ กต.ไต้หวัน รวมถึง IG , Threads และแพลตฟอร์ม X ของ กต.ไต้หวัน จึงขอใช้โอกาสนี้เชิญชวนทุกท่านร่วมรับชมและแชร์ที่วีดิทัศน์ที่เปี่ยมด้วยความหมายอันลึกซึ้งนี้ไปด้วยกัน