ที่มาข้อมูลข่าว : กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กระทรวงมหาดไทยไต้หวัน
จากการที่เทคโนโลยีสารสนเทศมีการพัฒนาที่รุดหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีมานี้ ส่งผลให้แนวทางการก่ออาชญากรรมยิ่งพัฒนาไปสู่รูปแบบข้ามพรมแดน และมีการแบ่งงานอย่างเป็นระบบ โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน และใช้การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางเสมือนจริง ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมและสวัสดิภาพของประชาชน ด้วยเหตุนี้ การร่วมหารือแนวทางความร่วมมือแบบข้ามพรมแดน การเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และการจัดตั้งกลไกเพื่อปกป้องความยุติธรรม จึงเป็นประเด็นที่ประชาคมโลกร่วมให้ความสำคัญในปัจจุบัน เมื่อต้องเผชิญกับการก่ออาชญากรรมรูปแบบใหม่ Mr. Ahmed Naser Al-Raisi ประธานองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (International Criminal Police Organization, INTERPOL) จึงได้ประกาศแถลงการณ์ในวันความร่วมมือตำรวจสากล (International Day of Police Cooperation) ซึ่งตรงกับเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567 ว่า “พวกเราจะสามารถรับมือกับคดีอาชญากรรมแบบข้ามพรมแดน การค้ามนุษย์และลัทธิการก่อการร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการเปิดเผยข้อมูลข่าวกรอง แผนกลยุทธ์และทรัพยากรอย่างโปร่งใส”
ไต้หวันมีหน่วยงานตำรวจและหน่วยงานตุลาการที่เป็นอิสระ มีระบบการเงินและกลไกการค้าระหว่างประเทศที่ครบถ้วนสมบูรณ์ รวมถึงการขนส่งทางเรือและทางอากาศที่ครอบคลุม และระบบการควบคุมการเข้า - ออกพื้นที่ชายแดน โดยองค์กรตำรวจไต้หวันยึดมั่นในหลักการสันติภาพ ควบคู่ไปกับการดูแลกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเปี่ยมด้วยประสบการณ์ในการปราบปรามการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมข้ามพรมแดน การค้ายาเสพติด การโจมตีทางไซเบอร์ การก่ออาชญากรรมในรูปแบบองค์กร และความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นต้น
จากรายงานการสำรวจสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ประจำปี 2567 (Business Climate Survey 2024 Report) สมาชิกสภาการค้าสหรัฐฯ ต่างเห็นพ้องตรงกันว่า “ความปลอดภัยส่วนบุคคล” เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้ประกอบการต่างชาติเดินทางมาพำนักอาศัยและประกอบอาชีพในไต้หวัน นอกจากนี้ จากรายงานที่ประกาศโดยเว็บไซต์คลังข้อมูล Numbeo จะเห็นได้ว่า ดัชนีความมั่นคงของไต้หวันครองอันดับ 4 ของโลก โดยที่อัตราการก่ออาชญากรรมรั้งท้ายอยู่ 4 อันดับสุดท้าย จากทั้งหมด 146 ประเทศ เป็นรองเพียงอันดอร์รา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกาตาร์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไต้หวันจะมีศักยภาพการบังคับใช้กฎหมายที่ยอดเยี่ยม แต่ในระหว่างการสอบสวนคดี นอกจากการประสานความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรแล้ว การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองแบบทันท่วงทียังถือเป็นกุญแจสำคัญของการสืบสวนสอบสวนในคดีอาชญากรรม แต่เนื่องจากไต้หวันไม่ได้เป็นสมาชิกของ Interpol จึงทำได้เพียงแสวงหาความร่วมมือจากนานาประเทศทั่วโลก เพื่อให้สามารถรับทราบข้อมูลที่จำเป็นเร่งด่วน แต่ถึงกระนั้น ข้อมูลที่ได้รับมาก็อาจจะล่าช้าเกินกว่าจะสามารถนำไปใช้ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ทำให้กลุ่มอาชญากรข้ามพรมแดน ยิ่งมีเวลาไหวตัว อันอาจส่งผลกระทบที่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น
ไต้หวันตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่มีความพิเศษ มีศักยภาพและมีความมุ่งมั่นในการประสานงานและร่วมแบ่งปันข้อมูลกับนานาประเทศทั่วโลก โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมสรรสร้างอนาคตที่เปี่ยมด้วยสันติภาพ ความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองไปพร้อมกับประชาคมโลก
หนังสือเดินทางสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตราจาก 100 กว่าประเทศทั่วโลก ซึ่งในปัจจุบัน หน่วยงานตำรวจไต้หวันได้บุกทำลายล้างแก็งค์มิจฉาชีพข้ามชาติที่นำหนังสือเดินทางไต้หวัน ไปทำการซื้อขายแบบผิดกฎหมาย โดยกลุ่มอาชญากรต่างอาศัยหนังสือเดินทางไต้หวันในการปิดบังสถานภาพที่แท้จริง เพื่อพรางตัวในการหนีไปยังประเทศต่างๆ และก่อพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในระดับนานาชาติ และก่อเกิดเป็นช่องโหว่ของความมั่นคงในระดับสากล
ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงขอเรียกร้องให้นานาประเทศทั่วโลกสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมในการประชุม Interpol ประจำปี ในฐานะผู้สังเกตการณ์ เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานตำรวจไต้หวัน ร่วมสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศสมาชิก ผ่านกิจกรรม การประชุมและกลไกการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไต้หวันจะยึดมั่นในแนวคิดในการแก้ไขปัญหาความมั่นคง ลดทอนความเสียหายทางชีวิต ทรัพย์สินและสวัสดิการของประชาชน ด้วยการประสานความร่วมมือกับประชาคมโลกในการปราบปรามการก่ออาชญากรรมข้ามพรมแดนอย่างเต็มที่ต่อไป