ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 12 พ.ย. 67
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนกลุ่มพันธมิตรไต้หวันในสภาผู้แทนราษฎรสาธารณรัฐเช็ก” พร้อมระบุว่า นับเป็นครั้งแรกที่ปธน.ไล่ฯ ได้ให้การต้อนรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสาธารณรัฐเช็ก หลังจากที่ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำไต้หวันในเดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา ซึ่งนับว่ามีความหมายอย่างยิ่งยวดต่อความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - เช็ก ทั้งการจัดตั้งสำนักงานตัวแทนรัฐบาลเช็กประจำกรุงไทเป (Czech Center Taipei) การแข่งขันเบสบอลนัดกระชับมิตร ระหว่างไต้หวัน – เช็ก และเส้นทางบินตรง ระหว่างกรุงไทเป - กรุงปราก ล้วนแต่เป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างไต้หวัน - เช็ก โดยในอนาคต ไต้หวัน – เช็กยังสามารถสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างกันอีกในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ความมั่นคงทางไซเบอร์และวัฒนธรรม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คณะตัวแทนจะเสริมสร้างความเข้าใจที่มีต่อไต้หวันในเชิงลึก ตลอดจนร่วมสำรวจโอกาสทางความร่วมมือแบบทวิภาคีต่อไป
ในช่วงแรกของการปราศรัย ปธน.ไล่ฯ กล่าวให้การต้อนรับ Mr. Marek Benda และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเช็ก ที่เดินทางมาเยือนไต้หวันในครั้งนี้ โดย Mr. Benda กล่าวว่า ค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพเป็นหลักการที่ไต้หวัน – เช็กยึดมั่นร่วมกัน นอกจากนี้ พวกเราต่างก็ร่วมเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ประจวบกับปีนี้เป็นการครบรอบ 35 ปีแห่งการปฏิวัติกำมะหยี่ ประวัติศาสตร์การสกัดกั้นอำนาจเผด็จการ และกระบวนการแสวงหาประชาธิปไตยและเสรีภาพของเช็ก ล้วนสร้างความประทับใจให้แก่พวกเราเป็นอย่างมาก
ปธน.ไล่ฯ ระบุว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – เช็กนับวันยิ่งมีความแนบแน่นมากยิ่งขึ้น อันจะเห็นได้จากการที่ Mr. Miloš Vystrčil ประธานวุฒิสภาเช็ก และ Ms. Markéta Pekarová Adamová ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำคณะตัวแทนเดินทางเยือนไต้หวัน โดยมิหวั่นเกรงต่อแรงกดดันจากจีน เพื่อขยายขอบเขตความร่วมมือแบบทวิภาคี ตลอดจนแสดงให้ประชาคมโลกประจักษ์ถึงพลังสนับสนุนที่รัฐบาลเช็กมีต่อไต้หวัน
ปธน.ไล่ฯ ระบุว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา นางสาวเซียวเหม่ยฉินได้เดินทางเยือนไต้หวันในฐานะว่าที่รองปธน.ไต้หวัน นอกจากนี้ เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีไช่อิงเหวินยังได้รับเชิญให้เข้าร่วม “การประชุม Forum 2000” สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นหลักชัยสำคัญของการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - เช็ก และเป็นการวางรากฐานในการเปิดบริบททางความร่วมมือแบบทวิภาคีในอนาคตต่อไป
จากนั้นเป็นการกล่าวปราศรัยของ Mr. Benda โดยได้ระบุว่า หน่วยงานข่าวกรองและนักวิเคราะห์ทางการเมือง ต่างย้ำเตือนว่า ขณะนี้ พวกเรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายที่สุด นับตั้งแต่เมื่อครั้งวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาเป็นต้นมา Mr. Benda รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ทั้งสองฝ่ายยืนหยัดอยู่บนเส้นทางประชาธิปไตย และเป็นส่วนหนึ่งของโลกประชาธิปไตยในการเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชน
Mr. Benda เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน นอกจากจะเป็นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – จีน รวมถึงความมั่นคงและเสรีภาพของไต้หวันแล้ว ยังเป็นประเด็นความมั่นคงของเส้นทางคมนาคมของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ด้วยกำลังอาวุธจากจีน หรือการบิดเบือนญัตติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 พวกเราจึงขอยึดมั่นในจุดยืนต่อต้านอย่างถึงที่สุด โดย Mr. Benda เชื่อว่า ผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ จะส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ - จีน ยิ่งมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น