ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ทำเนียบปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จัดงานแถลงข่าวหลังการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค
2024-11-21
New Southbound Policy。ทำเนียบปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จัดงานแถลงข่าวหลังการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (ภาพจากทำเนียบปธน.)
ทำเนียบปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จัดงานแถลงข่าวหลังการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (ภาพจากทำเนียบปธน.)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 20 พ.ย. 67
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 ทำเนียบประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดงานแถลงข่าวหลังการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders' Meeting, AELM) ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยนายหลินซิ่นอี้ ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท Taiwania Capital เป็นตัวแทนผู้นำไต้หวัน เข้าร่วมการประชุม AELM ภายใต้กรอบเอเปค (APEC) ประจำปีนี้ ได้ร่วมชี้แจงภาพรวม ของการประชุมเอเปคและผลสัมฤทธิ์จากการประชุม AELM พร้อมตอบข้อซักถามของบรรดาผู้สื่อข่าว           
 
นายหลินฯ กล่าวว่า ประเด็นที่หารือกันในการประชุม AELM ในครั้งนี้ครอบคลุมหลากหลายมิติ โดยกลุ่มผู้นำประเทศต่างๆ ล้วนจับตาความท้าทายที่ทั่วโลกต้องเผชิญร่วมกันอย่างใกล้ชิด พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทุกรอบการประชุมอย่างกระตือรือร้น โดยหวังที่จะบรรลุฉันทามติร่วมกันเพื่อจัดตั้งแนวปฏิบัติสำหรับความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต อุปสรรคความท้าทายเหล่านี้ประกอบด้วย การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ สาธารณสุข วิกฤตพลังงาน ภาวะเงินเฟ้อ ความมั่นคงทางอาหาร การกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาท้องถิ่นในยุคโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น Ms. Kristalina Georgieva ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund, IMF) ได้ประกาศในการประชุมภายในว่า ลัทธิกีดกันทางการค้ากำลังบั่นทอนการบูรณาการทางเศรษฐกิจและศักยภาพการขยายตัวทางการค้า
 
นายหลินฯ กล่าวว่า ข้าพเจ้าได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาของไต้หวัน พร้อมระบุว่า รูปแบบทางเศรษฐกิจและการค้าแบบดั้งเดิมในยุคอดีต ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่ายได้ จึงส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนและความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนา ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกร้องให้กลุ่มผู้นำเขตเศรษฐกิจให้ความสำคัญต่อคุณภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และความสำคัญของการขยายตัวในรูปแบบการมีส่วนร่วม
 
นายหลินฯ กล่าวว่า ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ ข้าพเจ้าและคณะตัวแทน ต่างมุ่งดำเนินภารกิจ 3 ประการที่ได้รับมอบหมายจากปธน.ไล่ชิงเต๋อ ซึ่งประกอบด้วย ประการแรก ไต้หวันจะมุ่งสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลกอย่างกระตือรือร้น บรรดาผู้นำเขตเศรษฐกิจต่างให้ความสนใจผลสัมฤทธิ์ทางเทคโนโลยี AI การแพทย์ดิจิทัล เซมิคอนดักเตอร์ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และความทรหดของกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นต้น เนื่องจากไต้หวันมีการวางแผนทางนโยบายอย่างครอบคลุม ประกอบกับรัฐบาลสวมบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ซึ่งพวกเราประสบความสำเร็จในการบูรณาการศักยภาพเชิงนวัตกรรมของภาคเอกชน ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงไปสู่ประชาคมโลก ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของไต้หวันในระดับนานาชาติแล้ว ยังเป็นการส่งมอบประสบการณ์อันล้ำค่าให้แก่กลุ่มเขตเศรษฐกิจอื่นอีกด้วย
 
นายหลินฯ ได้ร่วมแบ่งปันสถานการณ์การผลักดันสุขภาพรูปแบบดิจิทัลและเทคโนโลยี AI ของไต้หวัน พร้อมทั้งชี้แจงว่า พวกเราในฐานะที่เป็นคณะทำงานย่อยด้านสุขภาพดิจิทัล (Digital Health Sub-Working Group) ของ APEC ได้มุ่งพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล การประยุกต์ใช้ในการป้องกันโรคระบาดและการบริหารกลไกสุขภาพดิจิทัล
 
นายหลินฯ แถลงว่า บรรดาเขตเศรษฐกิจต่างเฝ้าจับตาแนวทางการกำหนดกฎระเบียบด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI และมีความเห็นว่า หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนควรประสานความร่วมมือกัน กำหนดกฎระเบียบการประยุกต์ใช้และการบริหารเทคโนโลยี AI เพื่อส่งเสริมให้ AI ก้าวสู่การเป็นอุปกรณ์ตัวช่วยในการสร้างประโยชน์ให้แก่มวลมนุษยชาติ
 
สำหรับประเด็นปัญหาความมั่นคงทางอาหาร นายหลินฯ ยังได้ร่วมแบ่งปันความมุ่งมั่นของไต้หวันในด้านการยกระดับประสิทธิภาพของระบบห่วงโซ่อุปทานอาหารและการลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) ซึ่งครอบคลุมไปถึงการยกระดับปริมาณผลผลิตทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยี AI ที่ทันสมัย ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังเป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จในการยกระดับความทรหดของห่วงโซ่อุปทานอาหารให้แก่เขตเศรษฐกิจอื่นใน APEC เพื่อรับมือกับวิกฤตอาหารโลกได้อีกด้วย
 
ประการที่สอง ไต้หวันให้การสนับสนุนความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่มีความเป็นธรรม และยอมรับซึ่งกันและกัน
 
ประการที่สาม ไต้หวันยินดีที่จะส่งเสริมการพัฒนาทางการค้าดิจิทัลกับบรรดาเขตเศรษฐกิจอื่น เนื่องจากการค้าดิจิทัลกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญในกลไกการค้าโลก ไต้หวันมีความมั่นใจว่าเราจะสามารถประยุกต์ใช้ศักยภาพทางดิจิทัลที่เป็นความภาคภูมิใจของพวกเรา ในการช่วยส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองในระดับสากล
 
นอกจากนี้ นายหลินฯ ยังได้ชี้แจงในระหว่างการประชุมในฐานะตัวแทนเจ้าหน้าที่ภาครัฐของไต้หวันว่า ไต้หวันจะบริจาคเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่ APEC เพื่อให้การสนับสนุนศักยภาพด้านการวิจัยของ APEC พร้อมทั้งให้การสนับสนุน APEC ในด้าน “ความมั่นคงของมนุษย์” “นวัตกรรมดิจิทัล” และ “การส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มสตรี” เพื่อช่วยจัดตั้งศักยภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา
 
นายหลินฯ ได้ยกตัวอย่างประกอบการชี้แจงประเด็นนวัตกรรมดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ พลังงานไฮโดรเจนก้าวสู่การเป็นหนึ่งในโครงการอนาคตที่ทุกฝ่ายมุ่งให้ความสำคัฐร่วมกัน  ด้วยเหตุนี้ จึงได้เรียกร้องให้ APEC เสริมสร้างความร่วมมือกันระหว่างสมาชิก  บรรลุ “ แนวปฏิบัติภายในกรอบนโยบายพลังงานไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำแห่งภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก” ซึ่งผ่านการเห็นชอบของที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานในปีนี้ นอกจากนี้ ยังได้ระบุว่า ไต้หวันมุ่งผลักดันการเงินสีเขียวและการพัฒนาระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อย่างกระตือรือร้น

นายหลินฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันยึดมั่นในหลักการการยอมรับซึ่งกันและกัน จิตวิญญาณการประสานความร่วมมือ แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงในการร่วมแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาของไต้หวันกับนานาประเทศทั่วโลก โดยพวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมแลกเปลี่ยนเชิงลึกกับเขตเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกของ APEC ในประเด็นที่หลากหลาย เพื่อร่วมรับมือกับความท้าทายนานารูปแบบ โดยไต้หวันจะมุ่งประสานความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจอื่น ภายใต้กรอบ APEC อย่างต่อเนื่อง เพื่ออุทิศคุณประโยชน์ในด้านเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนแก่ภูมิภาคให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้นสืบไป