กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 24 พ.ย. 67
“การประชุมระดับสูง” (High Level Segment) ระดับที่ 2 ภายใต้การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 (UNFCCC COP 29) มีกำหนดการจัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤศจิกายน 2567 โดยตัวแทนเจ้าหน้าที่ประเทศพันธมิตรของไต้หวัน 7 ประเทศต่างร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่น ไต้หวันขอแสดงความขอบคุณต่อ 3 ประเทศพันธมิตรในระหว่างการประชุมสุดยอด ที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และ 7 ประเทศพันธมิตรในการประชุมระดับสูง รวม 10 ประเทศ รวมไปถึงการประกาศ “แถลงการณ์ระดับประเทศ” ของรัฐบาลปารากวัย เพื่อสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมในกลไกการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
H.E. Surangel Whipps, Jr. ประธานาธิบดีสาธารณรัฐปาเลา แถลงว่า “ทุกประเทศควรที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในแผนการแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ ความมุ่งมั่นพยายามของไต้หวันในแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลก และคุณประโยชน์ที่ไต้หวันร่วมสร้างขึ้นภายใต้ผลสัมฤทธิ์ “ความตกลงปารีส” ได้ส่งผลให้ทั่วโลกประจักษ์เห็นแล้วว่า ประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23 ล้านคน สมควรได้รับการเชิญให้เข้าร่วมในแผนปฏิบัติการด้านการรับมือกับวิกฤตทางสภาพภูมิอากาศ พวกเราพร้อมแล้วที่จะประสานความร่วมมือกับนานาประเทศทั่วโลก
Dr. Joyelle Trizia Clarke รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งแวดล้อม และแผนปฏิบัติการด้านสภาพอากาศแห่งเซนต์คิดส์และเนวิส ก็ชี้ว่า “มิตรสหายของพวกเราที่เป็นประเทศเกาะซึ่งยึดมั่นในการพัฒนาด้วยความทรหดและยั่งยืน ได้มอบโอกาสการเรียนรู้และความร่วมมือให้แก่พวกเรา บนเส้นทางตามหลักการว่าด้วยการไม่ละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง เราจึงต้องคำนึงถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ด้วยเช่นกัน”
Mr. Carlos James รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว การบินพลเรือน การพัฒนาที่ยั่งยืนและวัฒนธรรมแห่งเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ ได้เรียกร้องอย่างหนักแน่นว่า “ภายใต้กรอบของพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพและโครงสร้างระหว่างประเทศ เราต้องดำเนินการตามลำดับความสำคัญที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น เราขอย้ำว่า ทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เช่น ไต้หวัน จึงสมควรที่จะมีโอกาสได้เข้าร่วมบนโต๊ะเจรจาด้วย”
Mr. Edwin J. Castellanos รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศแห่งสาธารณรัฐกัวเตมาลา เห็นว่า “เรายอมรับความพยายามและการมีส่วนร่วมของหุ้นส่วนระหว่างประเทศทั้งหมด รวมถึงรัฐบาลไต้หวัน ผ่านความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี…กัวเตมาลายืนยันคำมั่นที่จะสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นธรรมสำหรับทุกคน โดยไม่ละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง”
Dr. Kenrick Williams รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศแห่งเบลีซ ระบุว่า “บทนำของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และ ความตกลงปารีส ต่างเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระดับโลกอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ”