กระทรวงคมนาคม วันที่ 6 ธ.ค. 67
กรมการท่องเที่ยว สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เผยว่า จวบจนวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเยือนไต้หวัน ตลอดปี พ.ศ. 2567 มีจำนวนทะลุ 7 ล้านคนครั้ง เห็นได้ชัดว่ามีการขยายตัวเติบโตอย่างเห็นได้ชัดจากตัวเลขที่บันทึกไว้ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ด้วยยอด 6.49 ล้านคนครั้ง และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าสู่ไต้หวัน เป็นจำนวน 5.7 ล้านคนครั้ง ด้วยเหตุนี้ กรมการท่องเที่ยวจึงคาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสู่ไต้หวันตลอดช่วงเดือนธันวาคม จะขยายตัวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ ซึ่งขณะนี้ กรมการท่องเที่ยวได้เร่งใช้มาตรการการดึงดูดและประชาสัมพันธ์อย่างเต็มรูปแบบ
เมี่อวิเคราะห์จากข้อมูลสถิติของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าสู่ไต้หวัน จะเห็นได้ว่า ชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบและนิยมเดินทางเยือนไต้หวันมากกว่าหนึ่งครั้ง ครองสัดส่วนเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยจำนวน 1.18 ล้านคนครั้ง รองลงมาคือจากฮ่องกง – มาเก๊า ที่มีจำนวน 1.16 ล้านคนครั้ง ส่วนเกาหลีใต้ มีจำนวน 900,000 คนครั้ง ในที่นักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ ได้รับอานิสงส์จากการเปิดเส้นทางบินและการเพิ่มเที่ยวบินของสายการบินไต้หวันในปีนี้ และการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ความปลอดภัยระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวในไต้หวันและการประชาสัมพันธ์รูปแบบพิเศษ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากสหรัฐฯ มีจำนวนสูงถึง 600,000 คนครั้ง กลายเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของไต้หวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าก่อนเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เสียอีก
หลังผ่านพ้นสถานการณ์โรคโควิด – 19 นานาประเทศทั่วโลกต่างก็มุ่งขยายตลาดการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างกระตือรือร้น นอกเหนือจากตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แล้ว ไต้หวันยังมุ่งขยายกระแสการท่องเที่ยวไปสู่ทวีปอเมริกาเหนือและกลุ่มประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ แม้ว่าในปีนี้จะประสบกับข้อจำกัดที่เกิดจากผลกระทบด้านปริมาณการขนส่งในเส้นทางการบินระหว่างประเทศ และปริมาณอุปทานที่ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤต อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ ได้มากกว่ามาตรฐานเดิม แสดงให้เห็นว่าการประชาสัมพันธ์แบรนด์การท่องเที่ยวไต้หวัน เวอร์ชัน 3.0 ประกอบกับสิทธิประโยชน์พิเศษและมาตรการเงินรางวัลสนับสนุน เป็นแนวทางที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้กลับมาเยือนไต้หวันอีกครั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กรมการท่องเที่ยวชี้ว่า ในปี พ.ศ.2567 ได้มีการใช้กลยุทธ์การจัดตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวในต่างแดน ทั้งในกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย เมืองมุมไบของอินเดีย กรุงปารีสของฝรั่งเศส และเมืองแวนคูเวอร์ของแคนาดา อีกทั้งจะมีการจัดตั้งสำนักงานย่อยเพื่อให้บริการด้านการท่องเที่ยวไต้หวัน (Taiwan Tourism Information Center, TTIC) ขึ้น ณ กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ ในวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขยายตลาดยุโรป ตลาดนโยบายมุ่งใต้ใหม่และตลาดมุสลิม อันจะเป็นการขยายเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความคึกคักในตลาดสหรัฐฯ และตลาดออสเตรเลีย กรมการท่องเที่ยวยังมีแผนจะจัดตั้ง TTIC ขึ้นในเมืองซีแอตเทิลและเมืองซิดนีย์ ในปี พ.ศ. 2568 ด้วย
เพื่อส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ในตลาดนานาชาติอย่างเต็มที่ กรมการท่องเที่ยวจึงได้ส่งเสริมการจัดตั้งสภาพแวดล้อมการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำในทุกเขตพื้นที่ของสำนักงานบริหารอุทยานท่องเที่ยวแห่งชาติทั่วไต้หวัน เพื่อยกระดับชื่อเสียงของแหล่งท่องเที่ยวในประเทศ และบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัดในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวสีเขียวที่ยั่งยืนของไต้หวันในต่างประเทศ นอกจากนี้ รางวัลสู่ความสำเร็จของแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก (2024 Green Destinations Top 100 Stories) ประจำปี พ.ศ. 2567 ได้ทำการประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือก ซึ่งปรากฎว่า ไต้หวันมีแหล่งท่องเที่ยว 7 แห่งและผู้ประกอบการสีเขียว 2 ราย ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัล ทำให้มีผู้ได้รับรางวัลมากที่สุดในรอบ 9 ปี นอกจากนี้ ไต้หวันยังสามารถคว้ารางวัลอันดับ 3 ของโลกในตลาดการท่องเที่ยวสำหรับชาวมุสลิมในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม (Non-OIC Destinations) และเป็นประเทศที่ครองอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียในดัชนีการท่องเที่ยวของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ รางวัล Leisure Lifestyle Awards ครั้งที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2567 ที่ประกาศโดย Global Traveler นิตยสารท่องเที่ยวชื่อดังของสหรัฐฯ เผยว่า ไต้หวันคว้ารางวัล “สถานที่ท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย” มาครองได้สำเร็จอีกครั้ง โดยหลังจากนี้ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงคมนาคม จะจับมือกับเทศบาลทุกพื้นที่ และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว ในการส่งเสริมการขยายตลาดการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาและสร้างโอกาสให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไต้หวันต่อไป
เพื่อพัฒนาไฮไลท์การท่องเที่ยว และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมมูลค่าล้านล้านเหรียญ กรมมการท่องเที่ยวจึงได้เปิดตัวแบรนด์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ของไต้หวันด้วยกลยุทธ์ รวม 4 มิติ เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางเยือนไต้หวัน ประกอบด้วย การสร้างแบรนด์การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวรอบเกาะ การท่องเที่ยวแบบบูรณาการ และการยกระดับคุณค่าในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอัจฉริยะ ผสมผสานเข้ากับกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนและการยกระดับสู่ความเป็นดิจิทัล โดยหวังที่จะบรรลุเป้าหมายเพื่อกลายเป็นอุตสาหกรรมมูลค่าล้านล้านเหรียญ ภายในปี พ.ศ. 2571