ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
สภาบริหารไต้หวันจัดการประชุมนานาชาติเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี พ.ศ. 2567
2024-12-11
New Southbound Policy。สภาบริหารไต้หวันจัดการประชุมนานาชาติเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี พ.ศ. 2567 (ภาพจากสภาบริหาร)
สภาบริหารไต้หวันจัดการประชุมนานาชาติเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี พ.ศ. 2567 (ภาพจากสภาบริหาร)

สภาบริหาร วันที่ 10 ธ.ค. 67
 
ในช่วงระหว่างวันที่ 9 – 10 ธันวาคม 2567 สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จัด “การประชุมนานาชาติเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล ประจำปี พ.ศ. 2567” โดยมุ่งเน้นในประเด็น “การศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน” ผ่านการแบ่งปันแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดและกลยุทธ์การประเมินผลรูปแบบนวัตกรรม ในด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการศึกษาด้านการเปลี่ยนผ่านเพื่อคืนความยุติธรรม ด้วยวิสัยทัศน์ระดับสากลและมุมมองเชิงภาคปฏิบัติที่หลากหลายทั้งในและต่างประเทศ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะนนำเสนอองค์ประกอบใหม่ๆ เข้าสู่การศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน ควบคู่ไปกับการวางแผนทิศทางการผลักดันกลไกการตรวจสอบและการประเมินผลในอนาคตต่อไป
 
นายจั๋วหรงไท้ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งเป็นประธานในพิธี ได้เปิดการประชุมด้วยการกล่าวปราศรัย โดยเน้นย้ำว่า สิทธิมนุษยชนเป็นค่านิยมสากล ตลอดที่ผ่านมา ไต้หวันมุ่งยืนหยัดในจุดยืนต่อต้านการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง และระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม ซึ่งเป็นบทเรียนที่ได้จากประวัติศาสตร์ของไต้หวันเมื่อครั้งอดีต โดยพวกเราจะไม่มีวันเดินย้อนกลับบนเส้นทางแห่งสิทธิมนุษยชน และจะมุ่งประสานความร่วมมือกับประเทศและหุ้นส่วนที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันทั่วโลก เพื่อผนึกกำลังในการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาค ควบคู่ไปกับการปกป้องประชาธิปไตย นรม.จั๋วฯ แสดงทรรศนะว่า นอกจากพวกเราจะหลีกเลี่ยงมิให้เกิดความผิดพลาดเมื่อครั้งอดีตในรูปแบบการปกครองด้วยระบอบเผด็จการและลัทธิอำนาจนิยมแล้ว ยังต้องขจัดพฤติกรรมการกลั่นแกล้งและระราน รวมถึงการใช้อำนาจครอบงำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งต่อหลักการสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ เพื่อสรรสร้างพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นธรรมและให้ความเคารพซึ่งกันและกันให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป
 
หัวข้อการประชุมรอบแรกที่เปิดฉากขึ้นเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 9 ธันวาคม 2567 คือ “แนวทางปฏิบัติด้านการส่งเสริมการศึกษาสิทธิมนุษยชน” โดยศาสตราจารย์ไล่เยว่มี่จากภาควิชาสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยคุรุศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน (NTNU) ได้แบ่งปันประสบการณ์และข้อคิดที่ได้จากการเข้าร่วมการฝึกอบรมด้านการศึกษาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน โดยได้อธิบายถึงแนวทางการฝึกอบรมด้วยการให้ผู้รับการฝึกอบรมมีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ และทำการปรับให้สอดคล้องกับหัวข้อ กลุ่มเป้าหมายและสถานที่ที่แตกต่าง ตลอดจนวิเคราะห์สถานการณ์และความท้าทายด้านการฝึกอบรมในประเด็นสิทธิมนุษยชนของไต้หวัน
 
ส่วนการประชุมรอบที่ 2 จัดขึ้นในหัวข้อ “กลยุทธ์นวัตกรรมสำหรับการประเมินผลการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน” โดย Ms. Magda J. Seydegart ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนแห่งมหาวิทยาลัย Ottawa ของแคนาดา และ Dr. Edward T. Jackson ศาสตราจารย์จากสถาบันนโยบายสาธารณะและการบริหารจัดการแห่งมหาวิทยาลัย Carleton University ของแคนาดา ต่างร่วมแบ่งปันวิธีการในการใช้นวัตกรรมมาทำการประเมินผลการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนและโครงการฝึกอบรม โดยเน้นย้ำว่า รัฐบาลควรประยุกต์ใช้วิธีการประเมินในแง่มุมที่หลากหลาย เพื่อจัดการความขัดแย้งทางค่านิยมที่หลากหลายในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
 
การประชุมรอบที่ 3 ที่จัดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 10 ธันวาคม 2567 โดยมี Ms. Felisa Tibbitts ศาสตราจารย์พิเศษด้านการศึกษาเชิงสิทธิมนุษยชนแห่งมหาวิทยาลัยยูเทรกต์ (Utrecht University) และประธานสมาคมการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหรัฐฯ มาร่วมแบ่งปันความสำคัญของกลไกการกำกับตรวจสอบและประเมินผลการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน และแนวทางการประยุกต์ใช้วิธีการรูปแบบผสมในการรวบรวมข้อมูล ควบคู่ไปกับการอภิปรายเกี่ยวกับความท้าทายที่เกิดจากทัศนคติและการเปลี่ยนผ่านทางพฤติกรรม
 
สำหรับหัวข้อการประชุมรอบที่ 4 คือ “การศึกษาด้านเชิงสิทธิมนุษยชนและการเชื่อมโยงสู่นานาชาติ” ซึ่งมุ่งเน้นการอภิปรายถึงแนวทางการปฏิบัติและความท้าทายในการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศ Dr. Joseph Zajda รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยออสเตรเลียน คาธอริค (Australian Catholic University) ได้ร่วมแบ่งปันการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้บริบทของโลกาภิวัตน์ว่า ควรเน้นย้ำการเชื่อมโยงกับประชาธิปไตยและความยุติธรรมทางสังคม รวมไปถึงความท้าทายของการที่ออสเตรเลียขาดวิธีการที่เป็นระบบและกลไกการคุ้มครองทางกฎหมาย
 
หัวข้อการประชุมรอบที่ 5 คือ “การศึกษาว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านเพื่อคืนความยุติธรรม” โดยศาสตราจารย์เฉินจวิ้นหงของคณะรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยตงอู๋ ซึ่งทำการศึกษาจากมุมมองของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในกิจการตำรวจ ทหารและกระบวนการยุติธรรม มาใช้พิจารณาแผนปฏิบัติการ กลยุทธ์การดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์การบังคับใช้ในปัจจุบันของการเปลี่ยนผ่านเพื่อคืนความยุติธรรมของไต้หวัน
 
ท้ายสุด การประชุมรอบที่ 6 เป็นการเสวนาเพื่อหาข้อสรุป โดยมุ่งเน้นไปที่การอภิปราย “แนวทางปฏิบัติในพื้นที่และทิศทางการพัฒนาในอนาคตของกลไกการเฝ้าติดตามผลการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนและการประเมินประสิทธิผลในไต้หวัน” เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจจากมุมมองที่หลากหลาย มาใช้เป็นหลักอ้างอิงในการชี้แนะและกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนของไต้หวันต่อไป
 
สำนักงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ภายใต้สภาบริหาร ชี้ว่า การประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจำนวนกว่า 400 คนที่มาจากทวีปยุโรป อเมริกาเหนือและออสเตรเลีย โดยเป็นการประชุมในรูปแบบไฮบริด ทั้งการประชุมในสถานที่จริงและการประชุมผ่านช่องทางออนไลน์ และมีการรวบรวมไว้ซึ่งทรัพยากรความรู้และบุคลากรจากภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชนและผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นการบูรณาการระหว่างความรู้และแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเสริมสร้างมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนให้ก้าวขึ้นสู่อีกระดับหนึ่ง ตลอดจนเป็นการอุทิศคุณประโยชน์ด้านการพัฒนาสิทธิมนุษยชนให้แก่ทั่วโลก

ข่าวยอดนิยม