ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “การประชุมเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 12” ที่มีสภาบริหารเป็นเจ้าภาพ
2024-12-17
New Southbound Policy。ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “การประชุมเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 12” ที่มีสภาบริหารเป็นเจ้าภาพ (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “การประชุมเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 12” ที่มีสภาบริหารเป็นเจ้าภาพ (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 16 ธ.ค. 67
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “การประชุมเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 12” โดยมีสภาบริหารเป็นเจ้าภาพ พร้อมกล่าวว่า นวัตกรรมทางเทคโนโลยีสามารถช่วยในการพัฒนาภูมิภาคให้เกิดความสมดุล ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (วันที่ 12 ธันวาคม 2567) คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของสภาบริหารได้มีมติเห็นชอบต่อ “แผนแม่บทการพัฒนาใน 6 ภูมิภาคหลัก” ซึ่งนอกจากจะมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ของไต้หวันแล้ว ยังจะมุ่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคที่สำคัญ เช่น รางรถไฟ ทางหลวง สถานพยาบาล วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและที่พักอาศัย เป็นต้น ซึ่งแผนโครงสร้างพื้นฐานเชิงสาธารณูปโภคแห่งอนาคตที่ถูกกำหนดไว้โดยรัฐบาล เป็นจำนวน 140 รายการ ปัจจุบัน มีจำนวน 100 กว่ารายการที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างกลไกการบริหารปกครองอย่างทั่วถึง และส่งเสริมความเชื่อมโยงในทั่วทุกพื้นที่
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า เมื่อมองย้อนไปสู่ “การประชุมเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์” เมื่อ 8 ปีก่อน รัฐบาลในยุคนั้นกำลังมุ่งผลักดัน “โครงการอุตสาหกรรมนวัตกรรม 5+2” ซึ่งเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในยุคสมัยต่อไปของไต้หวัน ซึ่งในระหว่างการจัดการประชุมเมื่อ 4 ปีก่อน “แผนอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ 6 หลัก” (Six Cores Strategic Industries) ได้กลายมาเป็นทิศทางการดำเนินนโยบายหลักของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งบรรลุวิสัยทัศน์ด้านนวัตกรรม ความหลากหลายและการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี พ.ศ. 2573
 
เมื่อต้องเผชิญกับการพัฒนาที่รุดหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ รวมไปถึงปัจจัยทางการเมืองตามภูมิรัฐศาสตร์ พวกเราจึงจำเป็นต้องยึดมั่นในรากฐานการพัฒนาตามแผนแม่บท 2 รายการข้างต้น ควบคู่ไปกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนมุ่งผลักดันอุตสาหกรรมที่เชื่อถือได้ 5 รายการหลัก ได้แก่ การพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ การควบคุมด้านความมั่นคง และเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับศักยภาพทางอุตสาหกรรมของไต้หวัน
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ในระหว่างที่ตนดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี งบประมาณด้านเทคโนโลยีของรัฐบาลกลาง มีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญไต้หวัน และขณะนี้ ได้มีการจัดสรรงบประมาณทางเทคโนโลยีในภาพรวมของรัฐบาลในปีหน้า (พ.ศ. 2568) ไว้ที่ 196,500 ล้านเหรียญไต้หวัน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 7,700 ล้านเหรียญไต้หวัน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมทางเทคโนโลยี โดยพวกเราจะยังคงมุ่งมั่นผลักดันให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในระดับสากลต่อไป
 
ปธน.ไล่ฯ เชื่อว่า นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาที่สมดุลในภูมิภาค ตลอดจนเป็นการบูรณาการระหว่างสังคมเชิงมนุษยศาสตร์และเทคโนโลยี สรรสร้างสภาพแวดล้อมการดำเนินชีวิต ที่เปี่ยมด้วยความยืดหยุ่นทางเทคโนโลยี ความทรหดทางสังคม ความยืดหยุ่นทางสภาพแวดล้อมและความทรหดทางเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของภาคประชาชน และส่งเสริมให้ไต้หวันมีศักยภาพที่เข้มแข็งในการรับมือกับความท้าทายรูปแบบต่างๆ ต่อไป
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ในปีนี้ ไต้หวันได้สร้างผลสัมฤทธิ์ที่ยอดเยี่ยมในด้านการพัฒนาทางเทคโนโลยี จากรายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลโลก ที่จัดทำโดยสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า ไต้หวันครองอันดับที่ 2 ในด้าน “บุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาต่อประชากร 1000 คน” ส่วน “ค่าใช้จ่ายทางการวิจัยและพัฒนาของประเทศต่อ GDP” “สัดส่วนการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงต่อ GDP” และ “ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียน” ไต้หวันต่างครองอันดับ 3 ของโลก
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไต้หวันมีศักยภาพ เทคโนโลยีและบุคลากร พวกเราจึงจำเป็นต้องสรรสร้างผลสัมฤทธิ์ทางเทคโนโลยีที่สมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง “การประชุมเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ก็คือแพลตฟอร์มสำคัญที่ระดมความคิดเห็นของทุกแวดวง ภายใต้ความมุ่งมั่นพยายามของทุกฝ่าย ไม่ว่าหัวข้อหลัก หัวข้อย่อยและมาตรการเชิงกลยุทธ์ต่างๆ ในการประชุมครั้งนี้ จะถูกนำมาใช้เป็นหลักอ้างอิงในการดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ของไต้หวัน ซึ่งคณะรัฐบาลจะมุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มกำลังต่อไป
 
ในช่วงท้าย ปธน.ไล่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อการเข้าร่วมของทุกฝ่าย พร้อมหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะอาศัยประสบการณ์และความคิดเห็นของทุกฝ่าย ในการส่งเสริมให้นโยบายทางวิทยาศาสตร์ของไต้หวัน มีความครอบคลุมสมบูรณ์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาทางอุตสาหกรรม แต่ยังสามารถนำมาซึ่งวิถีชีวิตที่ดีงามให้แก่ประชาชนอีกด้วย