ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
นรม.ไต้หวันมอบรางวัลคุณประโยชน์ด้านเทคโนโลยีดีเด่น เชิดชูบุคลากรทางการแพทย์ ที่มุ่งบรรลุแนวคิด “ไต้หวันสุขภาพดี” “ไต้หวันที่สมดุล” และ “ไต้หวันที่สามัคคี”
2024-12-19
New Southbound Policy。นรม.ไต้หวันมอบรางวัลคุณประโยชน์ด้านเทคโนโลยีดีเด่น เชิดชูบุคลากรทางการแพทย์ ที่มุ่งบรรลุแนวคิด “ไต้หวันสุขภาพดี” “ไต้หวันที่สมดุล” และ “ไต้หวันที่สามัคคี” (ภาพจากสภาบริหารและ NSTC)
นรม.ไต้หวันมอบรางวัลคุณประโยชน์ด้านเทคโนโลยีดีเด่น เชิดชูบุคลากรทางการแพทย์ ที่มุ่งบรรลุแนวคิด “ไต้หวันสุขภาพดี” “ไต้หวันที่สมดุล” และ “ไต้หวันที่สามัคคี” (ภาพจากสภาบริหารและ NSTC)

สภาบริหารและคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันที่ 18 ธ.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 นายจั๋วหรงไท้ นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วมพิธีประกาศมอบ “รางวัลคุณประโยชน์ด้านเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 ที่จัดโดยสภาบริหาร” ซึ่งการประกวดรางวัลข้างต้น จัดขึ้นมาเป็นระยะเวลากว่า 48 ปีแล้ว ผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ประกอบด้วย 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ : Dr. Thierry Pierre Robert Burnouf ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไทเป (Taipei Medical University Hospital, TMUH) ส่วนอีกกลุ่มเป็นคณะแพทย์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTUH) 3 ท่าน ประกอบด้วย Dr. Ming-Shiang Wu , Dr. Yi-Chia Lee และ Dr. Jyh-Ming Liou โดยวัตถุประสงค์ของรางวัลประเภทนี้ เพื่อเชิดชูเกียรติบุคลากรทางการแพทย์ที่มุ่งสร้างคุณประโยชน์ในการยกระดับสุขภาพของมวลมนุษยชาติและอารยธรรมโลก อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพและมาตรฐานระดับสูงของรางวัลดังกล่าวอีกด้วย
 
โดยบุคลากรที่ได้รับรางวัลข้างต้นเหล่านี้ มุ่งมั่นในการวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรม และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์และการเกษตร ซึ่งขานรับต่อแผนแม่บทการพัฒนาประเทศในอนาคต และวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาทางเทคโนโลยี ตลอดจนเป็นการสร้างนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม และมีอิทธิพลต่อการพัฒนาในภาคประชาสังคมและระดับโลก
 
Dr. Thierry Pierre Robert Burnouf เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการฟอกพลาสมาระดับนานาชาติ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลก (WHO) อีกทั้งยังเป็นนักวิจัยและนักวิชาการ ที่สร้างผลงานยอดเยี่ยมของไต้หวัน ที่มุ่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา “ผลิตภัณฑ์โลหิตเพื่อการรักษา” ซึ่งประสบความสำเร็จในการยกระดับความปลอดภัยของโลหิตและประสิทธิภาพในการรักษา ซึ่งผลงานวิจัยของ Dr. Thierry ได้กลายมาเป็นรากฐานสำคัญของการป้องกันโรคต่างๆ อาทิ ไวรัสตับอักเสบ B ไวรัสตับอักเสบ C เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และโรคฮีโมฟีเลีย อีกทั้งยังขยายขอบเขตการประยุกต์ใช้ไปสู่การรักษาเชื้อไวรัสอีโบลา โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง และไข้หวัดใหญ่จากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ H1N1 ซึ่งเป็นการอัดฉีดนวัตกรรมที่ก้าวข้ามกรอบจำกัดให้แก่แวดวงทางการแพทย์ นอกจากนี้ Dr. Thierry ยังเป็นชาวต่างชาติที่ถือสัญชาติไต้หวันคนแรก ที่ได้รับการคัดเลือกนับตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งรางวัลนี้เป็นต้นมา และเป็นการประกาศก้องให้ประชาคมโลกมองเห็นศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของไต้หวัน
 
ส่วน 3 ศาสตราจารย์แพทย์ประจำโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTUH) ประสบความสำเร็จในการวิจัยเทคโนโลยีตรวจคัดกรองโมเลกุล เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาที่ใช้กำจัดเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร Helicobacter pylori (H. pylori) หรือเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร ซึ่งเกิดจากต้นตอของเซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร และนำไปประยุกต์ใช้ในการรักษาเฉพาะบุคคล และการป้องกันมะเร็งกระเพาะอาหาร ควบคู่ไปกับการมุ่งจัดตั้งสมาคมทดลองเชิงคลินิก ระหว่างโรคระบบทางเดินอาหารและเชื้อ H. pylori โดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยา ด้วยความแม่นยำทางเทคโนโลยีตรวจคัดกรองโมเลกุล ควบคู่ไปกับการวิจัยแผนการรักษาสำรอง ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ผู้ติดเชื้อสามารถขจัดการกล้ำกรายของเชื้อ H. pylori อีกทั้งยังเป็นการผลักดันการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสในพื้นที่ชุมชน ซึ่งประสบความสำเร็จในการส่งผลให้อัตราการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร และมะเร็งกระเพาะอาหาร มีสัดส่วนลดลง ผลสัมฤทธิ์ทางการวิจัย นอกจากจะส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานสุขภาพในสังคมของไต้หวันแล้ว ยังได้รับการยอมรับให้เป็นมาตรฐานของการตรวจคัดกรองระดับนานาชาติและการรักษาเชื้อ H. pylori เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ
 
นรม.จั๋วฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การพัฒนาด้านการวิจัยในแขนงสาขาต่างๆ จะสามารถประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงแก้ไขวิถีชีวิตของภาคประชาชน ยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพของมวลมนุษยชน ซึ่งเป็นแนวคิดที่รัฐบาลไต้หวันเน้นย้ำเสมอมา ว่า นวัตกรรมต้องสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ภาคประชาชน เพื่อมุ่งพิชิตเป้าหมาย “การขับเคลื่อนนวัตกรรม สร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม”
 
ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สำเร็จการศึกษาด้านแพทยศาสตร์ จึงได้ยื่นเสนอแนวคิดการบริหารประเทศในทิศทาง “ไต้หวันสุขภาพดี” “ไต้หวันที่สมดุล” และ “ไต้หวันสามัคคี” ซึ่งการบูรณาการระหว่างการวิจัยและความรู้ของเจ้าของรางวัล ล้วนแต่เป็นการบรรลุแนวคิดด้านการบริหารประเทศที่เสนอโดยปธน.ไล่ฯ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม