ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
นรม.ไต้หวันเป็นประธานมอบรางวัลการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติ พร้อมหวังให้ภาครัฐและเอกชนจับมือร่วมบรรลุ 3 เป้าหมายหลัก
2024-12-20
New Southbound Policy。นรม.ไต้หวันเป็นประธานมอบรางวัลการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติ พร้อมหวังให้ภาครัฐและเอกชนจับมือร่วมบรรลุ 3 เป้าหมายหลัก (ภาพจากสภาบริหาร)
นรม.ไต้หวันเป็นประธานมอบรางวัลการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติ พร้อมหวังให้ภาครัฐและเอกชนจับมือร่วมบรรลุ 3 เป้าหมายหลัก (ภาพจากสภาบริหาร)

สภาบริหาร วันที่ 19 ธ.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 นายจั๋วหรงไท่ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “พิธีมอบรางวัลการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติ” พร้อมกล่าวว่า การมุ่งแสวงหาการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะทำให้บรรลุ 3 เป้าหมายหลัก ประกอบด้วย : “ความเจริญรุ่งเรืองของอุตสาหกรรม” “ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” และ “ประชาชนมีความสุขและสุขภาพดี”
 
นรม.จั๋วฯ แถลงว่า ไม่ว่าจะในด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม พลังงานและอุตสาหกรรม ขณะนี้ได้ก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่น รวมถึงภาครัฐและภาคประชาชน จึงควรที่จะประสานความร่วมมือกันจัดการประชุมและการสัมมนาในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาไต้หวันอย่างยั่งยืน และแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) ซึ่งเป็นแนวคิดที่หลอมรวมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หน้าที่ความรับผิดชอบต่อสังคมและการบริหารองค์กรธุรกิจ นอกจากนี้ นรม.จั๋วฯ ยังได้เข้าร่วมพิธีเปิดงานแสดงสินค้าวัสดุก่อสร้างนานาชาติไทเป โดยประกาศว่า พวกเราจะเริ่มต้นการปฏิรูปจากหน่วยงานของรัฐ โดยหวังที่จะขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างสีเขียวในภาพรวม การจัดซื้อและการให้บริการแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
 
นรม.จั๋วฯ กล่าวด้วยว่า ก่อนการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ได้ศึกษารายละเอียดของทุกหน่วยงานที่ได้รับรางวัลแล้ว ซึ่งทุกหน่วยงานต่างค้นพบรูปแบบการบริหารการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกแขนงสาขา ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ การยื่นเสนอแผนวิสัยทัศน์ในอนาคต เพื่อแสวงหาวิธีการใหม่ๆ ด้วยความคิดสร้างสรรค์
 
นรม.จั๋วฯ ย้ำว่า การแสวงหาการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะสามารถพิชิตเป้าหมาย 3 มิติหลักได้ ก่อนอื่น เริ่มจาก “ความเจริญรุ่งเรืองทางภาคอุตสาหกรรม” การผลักดัน “ความยั่งยืน” หากได้รับการยกระดับให้ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมแขนงหนึ่งได้ จะสามารถดึงดูดให้ผู้คนมาเข้าร่วมเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นการบูรณาการระหว่างความรู้ ทุนทรัพย์และประสบการณ์ เพื่อก้าวสู่การเป็นพลังใหม่แห่งการขับเคลื่อนการพัฒนาไต้หวันอย่างยั่งยืน หลายปีมานี้ แม้ว่าไต้หวันจะต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคโควิด – 19 ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือความท้าทายหลากหลายรูปแบบ หากแต่ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2566 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวัน ยังมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 3.2% และคาดว่าจะสูงแตะ 4.27% ในปีพ.ศ. 2567 ซึ่งผลสัมฤทธิ์ข้างต้นนี้ได้อาศัยความมุ่งมั่นและคุณประโยชน์ที่ได้จากผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ กอปรกับในขณะนี้ รัฐบาลมุ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมดั้งเดิม ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่ ซึ่งนโยบายเช่นนี้ จะทำให้ไต้หวันสามารถเชื่อมโยงสู่ประชาคมโลก และก้าวสู่กระแสแห่งอนาคตได้อย่างราบรื่น
 
นรม.จั๋วฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายประการที่ 2 ของการแสวงหาการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือ “ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” เนื่องจากผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน และการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง ทั้งวาตภัยและอุทกภัย ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคการเกษตร และการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งในจำนวนนี้ เมืองฮัวเหลียนเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ด้วยเหตุนี้ การแสวงหาเส้นทางกลับบ้านที่มั่นคงปลอดภัยให้แก่ชาวฮัวเหลียน - ไถตง จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว  
 
ส่วนเป้าหมายท้ายสุดคือ “ประชาชนมีความสุขและสุขภาพแข็งแรง” วิสัยทัศน์การบริหารประเทศชาติของปธน.ไล่ฯ คือ “ไต้หวันสุขภาพดี” “ไต้หวันที่สมดุล” และ “ไต้หวันที่สามัคคี” ซึ่งในจำนวนนี้ หลักการ “ไต้หวันสุขภาพดี” มีเป้าหมายหลักในการสร้างหลักประกันทางสุขภาพให้แก่ประชาชน ผ่านแนวทางต่างๆ ทั้งการยกระดับคุณภาพทางการแพทย์ ปรับปรุงระบบการเงินของระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ควบคู่ไปกับการยกระดับค่าตอบแทนและสวัสดิการให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อสรรสร้างสภาพแวดล้อมการดำเนินชีวิตที่เปี่ยมด้วยความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น
 
นรม.จั๋วฯ ชี้ด้วยว่า ในปี พ.ศ. 2568 รัฐบาลกลางได้จัดสรร งบประมาณจำนวน 116,100 ล้านเหรียญไต้หวัน สำหรับใช้ใน “แผนปฏิบัติการเพื่อการเติบโตสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ก่อนปี พ.ศ. 2593” พร้อมทั้งคาดว่าจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวน 900,000 ล้านเหรียญไต้หวันเข้าสู่แผนการข้างต้น ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งขณะนี้ งบประมาณดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ ซึ่งหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากสภาฯ เพื่อการมุ่งบรรลุแนวคิด “ไต้หวันสุขภาพดี” “ไต้หวันที่สมดุล” และ “ไต้หวันที่สามัคคี” ให้ดำเนินไปอย่างเป็นรูปธรรม
 
นอกจากนี้ เมื่อช่วงที่ผ่านมา กระทรวงสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environment, MOENV) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งเครือข่ายการตรวจวัดคุณภาพอากาศอย่างครอบคลุม ตามหลักการ “การบูรณาการกลไกการตรวจวัดคุณภาพอากาศ” “การพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวัดในท้องถิ่น” และ “การส่งเสริมระบบการตรวจวัดในระดับสากล” ตามโครงการ “การปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดตั้งกลไกการตรวจวัดคุณภาพอากาศในรูปแบบอัจฉริยะของไต้หวัน” ซึ่งผลการดำเนินงานมีความโดดเด่นมากที่สุดในบรรดาผลงานทั้งหมดของหน่วยงานภาครัฐ จนประสบความสำเร็จในการคว้ารางวัลการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 ในประเภทหน่วยงานภาครัฐ ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการการพัฒนาไต้หวันอย่างยั่งยืน ภายใต้การกำกับดูแลของสภาบริหารไต้หวัน พร้อมนี้ ยังได้รับรางวัลกลุ่มเจ้าหน้าที่ดีเด่นด้านการอุทิศตนเพื่อส่วนรวม แสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
MOENV แถลงว่า สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ทั้ง 19 แห่ง ที่ทยอยจัดตั้งขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ปัจจุบัน ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายการตรวจวัดอย่างครอบคลุม ที่บูรณาการเข้ากับเทคโนโลยี AI แสดงให้เห็นว่า เราประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ ไต้หวันได้สร้างผลสัมฤทธิ์ที่ดีมากมายในด้านการตรวจวัดทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากจะได้รับการยอมรับด้วยการคว้ารางวัล Smart 20 Awards ประจำปี พ.ศ. 2567 ที่จัดโดยสมาพันธ์เมืองอัจฉริยะสหรัฐฯ มาครองแล้ว ยังได้รับการยกย่องจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ของสหรัฐฯ ให้เป็น “ศูนย์ตรวจเช็คอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ” (APAC) แห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งขณะนี้ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และอีก 5 ประเทศรายรอบ ได้เตรียมจัดส่งอุปกรณ์ตรวจวัด มาเข้าทำการตรวจเช็คในไต้หวันด้วย
 
ในด้านการตรวจวัดรูปแบบอัจฉริยะ MOENV ได้จัดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจสอบคุณภาพอากาศทั่วทุกพื้นที่ในไต้หวัน จำนวนรวม 10,000 ตัว ซึ่งบูรณาการเข้ากับเทคโนโลยี AI เพื่อให้สามารถตรวจวัดคุณภาพอากาศในทุกเขตพื้นที่ทั่วไต้หวัน แบบ 24 ชั่วโมง ซึ่งนอกจากระบบดังกล่าว จะให้ความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างแม่นยำแล้ว หลายปีมานี้ ยังตรวจพบกรณีปัญหาการสร้างมลภาวะที่รุนแรง ซึ่งได้มีการปรับเงินเป็นจำนวนรวมกว่า 310 ล้านเหรียญไต้หวัน อีกทั้งยังสามารถรวบรวมค่าปรับ อันเนื่องมาจากปัญหามลพิษทางอากาศ ได้เป็นจำนวนเงินกว่า 420 ล้านเหรียญไต้หวัน ถือเป็นการส่งเสริมให้คุณภาพอากาศของไต้หวัน ได้รับการปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจกับข้อมูลคุณภาพอากาศได้แบบเรียลไทม์ MOENV จึงได้จัดทำแอพพลิเคชันแบบเรียลไทม์ ซึ่งมีผู้ดาวน์โหลดแล้วเป็นจำนวนกว่า 670,000 ครั้ง
 
เพื่อเร่งผลักดันเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2593 สภาบริหารไต้หวันจึงได้ประกาศจัดตั้งพันธมิตรผู้บริหารด้านความยั่งยืน (Chief Sustainability Officer, CSO) โดยมีรองนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งผู้บริหารด้านความยั่งยืน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมดำรงตำแหน่งเลขาธิการฯ โดยจะนำพาหน่วยงานส่วนกลางและท้องถิ่น รวมถึงรัฐวิสาหกิจให้ร่วมกันปฏิบัติตามแนวทาง "การเติบโตสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นศูนย์สุทธิ"
 
ในอนาคต MOENV จะดำเนินภารกิจที่เป็นการขานรับต่อนโยบายของ CSO อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจวัดอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนประสานความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสรรสร้างสภาพแวดล้อมการดำเนินชีวิตแบบยั่งยืน โดยผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการตรวจวัด ชี้ว่า ขณะนี้ ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index, AQI) ของไต้หวัน อยู่ระหว่างเกณฑ์ดีและทั่วไป ในสัดส่วนที่สูงถึง 93.8% แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้วยความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม