ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
“รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาเชิงศิลปะ ครั้งที่ 11” จัดพิธีประกาศผลและมอบรางวัล เพื่อยกย่องเชิดชูผู้ได้รับรางวัล 37 คนที่มุ่งผลักดันการศึกษาด้านศิลปะมาเป็นเวลายาวนาน
2024-12-27
New Southbound Policy。“รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาเชิงศิลปะ ครั้งที่ 11” จัดพิธีประกาศผลและมอบรางวัล เพื่อยกย่องเชิดชูผู้ได้รับรางวัล 37 คนที่มุ่งผลักดันการศึกษาด้านศิลปะมาเป็นเวลายาวนาน (ภาพจากกระทรวงศึกษาธิการ)
“รางวัลผู้มีคุณูปการต่อการศึกษาเชิงศิลปะ ครั้งที่ 11” จัดพิธีประกาศผลและมอบรางวัล เพื่อยกย่องเชิดชูผู้ได้รับรางวัล 37 คนที่มุ่งผลักดันการศึกษาด้านศิลปะมาเป็นเวลายาวนาน (ภาพจากกระทรวงศึกษาธิการ)

กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 26 ธ.ค. 67
 
“รางวัลผู้มีคุณูปการต่อด้านการศึกษาเชิงศิลปะ ครั้งที่ 11” จัดพิธีประกาศผลและมอบรางวัลขึ้น ณ ศูนย์การเรียนรู้ศิลปะไต้หวัน วิทยาเขตหนานไห่ (Nanhai Campus) เมื่อช่วงบ่ายเวลา 14:00 น.ของวันที่ 26 ธันวาคม 2567 โดยมีนายจางเลี่ยวว่านเจียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่เป็นผู้มอบรางวัล โดยในปีนี้ มีกลุ่มองค์กรและสถาบันที่ได้รับรางวัล รวม 24 แห่ง และบุคคลที่ได้รับรางวัลอีก 13 คน รวมเป็นจำนวน 37 รายการ แสดงให้เห็นถึงผลงานดีเด่นด้านการศึกษาเชิงศิลปะ ซึ่งรางวัลข้างต้นนี้ได้จัดขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 จวบจนปัจจุบัน สถาบันและกลุ่มองค์กรที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม มีจำนวนทั้งสิ้น 283 แห่ง และรายบุคคลอีก จำนวน 145 รายการ แสดงให้เห็นถึงการให้การยอมรับต่อความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการศึกษาเชิงศิลปะ
 
รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (lifetime achievement awards) ประจำปีนี้ มอบให้แก่ดร.เจิ้งซ่านสี่ ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน (NTNU) และนายเฉินฮุยตง ผู้อำนวยการกิตติมศักดิ์พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ นครไถหนาน โดยศจ. เจิ้งฯ มุ่งวิจัยภาพวาดหมึกจีนโบราณ อีกทั้งยังบูรณาการเรื่องราวในวิถีชีวิตประจำวันเข้ากับเรื่องราวในสถาบันการศึกษา ควบคู่ไปกับการอัดฉีดองค์ประกอบสมัยใหม่และทักษะต่างๆ เพื่อการพัฒนาผลงานสร้างสรรค์ที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่วนผอ. เฉินฯ ถือเป็นผู้บุกเบิกและส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปะรุ่นแรกของไต้หวัน โดยผอ.เฉินฯ ได้สร้างสรรค์ผลงานมากมายมากว่าครึ่งศตวรรษ อีกทั้งยังได้สั่งสมประสบการณ์และผลงานด้านการเรียนการสอนศิลปะสำหรับเด็ก โดยได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องออกมาเป็นจำนวนมาก
 
โรงเรียนมัธยมศึกษาหูเหว่ย เมืองหยุนหลิน (Huwei Junior High School) มุ่งมั่นอนุรักษ์และส่งเสริมประเพณีพื้นบ้านแบบดั้งเดิม อาทิ คณะเชิดสิงโต Liang-Kuang Lion และการแสดงหุ่นกระบอก ทั้งนี้ เพื่อสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าให้คงอยู่ต่อไป นอกจากนี้ รร.มัธยมศึกษาหูเหว่ยยังได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) ผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยี AI ในการจัดหลักสูตรการสร้างสรรค์ด้วยสองมือ โดยผสมผสานระหว่างศิลปะดั้งเดิมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งพัฒนาจนกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญของการศึกษาเชิงศิลปะในสถาบัน
 
โรงเรียนประถมศึกษาเจิ้นเหลียว เมืองจางฮั่ว (Zunliao Elementary School) อาศัยทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่และมนุษยศาสตร์ มาเป็นรากฐานในการพัฒนาหลักสูตรผืนดินและสายน้ำโดยนำเอาองค์ประกอบทางศิลปะและวิถีชีวิต บูรณาการเข้าไว้ด้วยกันในเชิงลึก ควบคู่ไปกับการแผ่ขยายศักยภาพการศึกษาเชิงศิลปะไปสู่ชุมชน 
 
โรงเรียนประถมศึกษาหานซี ในตำบลต้าถง เมืองอี๋หลาน (Han Si Elementary School) มุ่งเน้นไปที่นาฏศิลป์แบบดั้งเดิมของกลุ่มชนเผ่าไท่หย่า และการสืบสานทักษะฝีมือการถักสาน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนทำความรู้จักและยอมรับต่อวัฒนธรรมของตนเอง ผ่านการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนและการจัดการแสดง เป็นต้น
 
มูลนิธิ Chang Yung-Fa Foundation มุ่งอัดฉีดทรัพยากรในการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งดนตรีและการแสดงศิลปวัฒนธรรม มาเป็นระยะเวลานาน พร้อมทั้งส่งมอบเงินทุนสนับสนุนศิลปะในพื้นที่ชนบท ควบคู่ไปกับการบ่มเพาะบุคลากร และนำเมล็ดพันธุ์ด้านศิลปะ ส่งต่อไปสู่ทุกพื้นที่ทั่วไต้หวัน มูลนิธิ Hsu Chauing Social Welfare Charity Foundation ได้ว่าจ้างอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่เขตชนบท เพื่อส่งมอบโอกาสการเรียนรู้ศิลปะขั้นพื้นฐานสำหรับเด็กผู้ด้อยโอกาส ส่วนมูลนิธิ Water Source ได้ประยุกต์ใช้ทักษะงานมัดย้อมสไตล์ฮากกา ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ในชุมชน พัฒนาแบรนด์ผลงานหัตถศิลป์อย่าง Taiping Blue
 
ส่วนคณาจารย์ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ล้วนเป็นบุคลากรที่มุ่งมั่นส่งเสริมภารกิจการเรียนการสอนในหลักสูตรการศึกษาเชิงศิลปะ และการบ่มเพาะบุคลากร อาทิ อาจารย์ซุนจวี๋จวินจากโรงเรียนมัธยมศึกษาจงเหอ ที่มุ่งมั่นสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่หลากหลาย ยอมรับซึ่งกันและกันและพร้อมให้ความร่วมมือ ด้วยการจัดตั้ง “ชุมชนการเรียนการสอนเชิงทัศนศิลป์” โดยได้รวบรวมเหล่าอาจารย์ศิลปะจากทั่วทุกพื้นที่ในไต้หวัน ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และทรัพยากรการเรียนการสอน ขับเคลื่อนศักยภาพเชิงนวัตกรรมของหลักสูตรให้มีคุณภาพ นอกจากนี้ นางเฉินหยุ่นหรู คณบดีโรงเรียนประถมศึกษาฉือเหวิน ในเขตนครเถาหยวน ได้ผสมผสานการพัฒนาหลักสูตร และกิจกรรมชมรมการศึกษาเชิงศิลปะแบบข้ามสถาบัน ผ่านการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการชมรมเชิงศิลปะเทคโนโลยี LDS แบบข้ามสถาบัน และการแลกเปลี่ยนหลักสูตรศิลปะแบบข้ามศาสตร์ พร้อมทั้งเชิญอาจารย์ศิลปะและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ร่วมวิจัยและพัฒนาสื่อการเรียนการสอน และประกาศเปิดตัวแผนการเรียนการสอนเชิงนวัตกรรม ทั้งนี้ เพื่อมุ่งเสริมสร้างคุณภาพการเรียนการสอนให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป
 
เพื่อยกย่องเชิดชูผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะแบบดั้งเดิมที่ได้รับการสืบทอดต่อกันมารุ่นสู่รุ่น และเพื่อประชาสัมพันธ์การศึกษาเชิงศิลปะ อาทิ ดร.หงเหย้าฮุย ศาสตราจารย์คณะการบำรุงรักษาศิลปะโบราณสถานแห่งมหาวิทยาลัยศิลปะไต้หวันแห่งชาติ (National Taiwan University of Arts) มุ่งวิจัยการเรียนการสอนศิลปะการแกะสลักแบบดั้งเดิม ผ่านการจัดกิจกรรมนิทรรศการและการออกแบบการเรียนการสอน นอกจากนี้ นายไล่อี้ฟา ซึ่งเป็นผู้อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มุ่งเผยแพร่และบ่มเพาะบุคลากรรุ่นใหม่ เพื่อสืบสานบทเพลงสไตล์ฮากกาให้คงอยู่ต่อไป  
 
โดยในระหว่างพิธีฯ ได้เชิญคณาจารย์ - นักเรียนโรงเรียนอาชีวศึกษาจวงจิ้งในเขตนครนิวไทเป และโรงเรียนประถมศึกษาหานซีในเมืองอี๋หลาน ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับรางวัลประจำปีนี้ เข้าร่วมจัดการแสดงสุดอลังการ โดยในอนาคต กระทรวงศึกษาธิการจะมุ่งผลักดันการศึกษาเชิงศิลปะ ให้ครอบคลุมและมีมติที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เมล็ดพันธุ์ทางศิลปะ เจริญงอกงามในทั่วทุกพื้นที่ต่อไป