
สภาบริหาร วันที่ 30 ธ.ค. 67
เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2567 นายจั๋วหรงไท้ นายกรัฐมนตรีแห่งสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทำหน้าที่เป็นประธานใน “การประชุมคณะกรรมการว่าด้วยความเสมอภาคทางเพศแห่งสภาบริหาร ครั้งที่ 31” โดยชี้ว่า ประสบการณ์การพัฒนาความเสมอภาคทางเพศของไต้หวัน ถือเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชีย โดยในปี พ.ศ. 2567 รัฐบาลได้ผลักดันมาตรการปฏิรูปหลายรายการ และบังคับใช้กฎหมายความเสมอภาคทางเพศที่ได้รับการแก้ไขใหม่อย่างครอบคลุม ประกอบด้วย : กฎหมายป้องกันการคุกคามทางเพศ กฎหมายว่าด้วยภารกิจความเสมอภาคทางเพศ และกฎหมายว่าด้วยการศึกษาด้านความเสมอภาคทางเพศ ด้วยเหตุนี้ นรม.จั๋วฯ จึงขอเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานมุ่งพัฒนาภารกิจความเสมอภาคทางเพศภายในไต้หวัน และกำหนดให้สาระสำคัญของความเสมอภาคทางเพศ ถูกบรรจุเข้าสู่การประชุมและกิจกรรมระดับนานาชาติที่จัดโดยไต้หวัน นอกจากนี้ นรม.จั๋วฯ ยังกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลความเสมอทางเพศต่อภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างกฎระเบียบว่าด้วยช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศ ตลอดจนมุ่งลดทอนการกีดกันทางเพศในตลาดแรงงาน
นรม.จั๋วฯ กล่าวว่า “โครงการความหวังของชาติ” ที่เสนอขึ้นโดยประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นความเสมอภาคทางเพศเป็นอย่างมาก พร้อมเน้นย้ำการบังคับใช้กฎหมายความเสมอภาคทางเพศ 3 มิติ สรรสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อเพศสถานะ จัดตั้งสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อครอบครัว และส่งเสริมการเข้าร่วมกำหนดนโยบายของผู้หญิงและการบ่มเพาะบุคลากรกิจการสาธารณะ
จาก “รายงานการวิเคราะห์ช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศและการดำเนินการนโยบายใน "“วันค่าจ้างเท่าเทียม” (Equal pay day)” ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2566 ค่าตอบแทนรายชั่วโมง มีช่องว่างลดลงร้อยละ 14.7% จากในปี 2564 และ 2565 ที่แตะระดับสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 15.8% นอกจากนี้ ค่ามัธยฐานช่องว่างค่าจ้างระหว่างเพศสำหรับคนทำงานเต็มเวลาในกลุ่มประเทศสมาชิกหลักขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ในปี 2565 ไต้หวันครองสัดส่วนที่ 15.3% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าสหรัฐฯ แคนาดา ฟินแลนด์ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นต้น
นอกจากนี้ นรม.จั๋วฯ ยังได้กำชับให้กระทรวงแรงงานส่งเสริมและให้คำชี้แนะผู้ประกอบการภาคธุรกิจทั่วไปในการพิจารณาสถานการณ์การบังคับใช้กลไกการตรวจสอบความเสมอภาคทางเพศ ผ่านการประเมินด้วยตนเอง เพื่อการปรับปรุงแก้ไขแบบฟอร์มการประเมิน พร้อมทั้งทำหนังสือถึงหน่วยงานด้านแรงงานในพื้นที่ต่างๆ ให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานภาคธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ