ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
โครงการซิลิคอนวัลเลย์ภาคใต้เชื่อมโยงระเบียงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เขตภาคใต้รูปตัว S ขับเคลื่อนไต้หวันก้าวสู่ยุคสมัยแห่งการประยุกต์ใช้ AI
2025-01-03
New Southbound Policy。โครงการซิลิคอนวัลเลย์ภาคใต้เชื่อมโยงระเบียงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เขตภาคใต้รูปตัว S ขับเคลื่อนไต้หวันก้าวสู่ยุคสมัยแห่งการประยุกต์ใช้ AI (ภาพจากสภาบริหาร)
โครงการซิลิคอนวัลเลย์ภาคใต้เชื่อมโยงระเบียงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เขตภาคใต้รูปตัว S ขับเคลื่อนไต้หวันก้าวสู่ยุคสมัยแห่งการประยุกต์ใช้ AI (ภาพจากสภาบริหาร)

สภาบริหาร วันที่ 2 ม.ค. 68
 
เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2568 นายจั๋วหรงไท่ นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงภายหลังรับฟังรายงาน “โครงการสร้างฐานซิลิคอนวัลเลย์ในพื้นที่ทางตอนใต้” จากคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยนรม.จั๋วฯ ระบุว่า เทคโนโลยีใหม่สร้างโอกาสใหม่ให้แก่อุตสาหกรรมไต้หวัน โดยการสร้างซิลิคอนวัลเลย์ในพื้นที่ทางตอนใต้ จะนำพาความหวังใหม่มาสู่ไต้หวัน เพื่อบรรลุแผนปฏิบัติการข้างต้น รัฐบาลนอกจากจะมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีข้อได้เปรียบในตลาดโลกที่มีอยู่ในพื้นที่ทางตอนใต้ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ วัสดุชีวภาพ เครื่องจักรกลแม่นยำ และพลังงานสีเขียวตามหลักการโฟโตอีเล็กตริกแล้ว ในอนาคตยังจะมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานไร้คนขับ อุตสาหกรรมอวกาศ และการแพทย์อัจฉริยะ ควบคู่ไปด้วย
 
นรม.จั๋วฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนปฏิบัติการข้างต้นจะเริ่มต้นจากเขตซาหลุนในนครไถหนาน โดยวางแผนจัดตั้งสวนวิทยาศาสตร์และนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขึ้น ทั้งในเมืองเจียอี้ ไถหนาน เกาสงและผิงตง เชื่อมโยงระเบียงอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เขตภาคใต้รูปตัว S (Southern Semiconductor S Corridor) โดยภารกิจหลักจะเริ่มตั้งแต่การยกระดับศักยภาพการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI ไปจนถึงศักยภาพการวิจัยพัฒนาระบบอย่างครอบคลุม เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันก้าวสู่ยุคสมัยแห่งการประยุกต์ใช้ AI ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
 
นรม.จั๋วฯ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการขับเคลื่อนนวัตกรรม ก็เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยรวม และเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมแบบคลัสเตอร์และชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ทางตอนใต้ที่มีความครอบคลุมและสมบูรณ์ นรม. จั๋วฯ จึงกำชับให้ทุกหน่วยงานวางมาตรการที่รัดกุม ทั้งในด้านบุคลากร อุตสาหกรรม ระบบจ่ายพลังงานประปาและไฟฟ้า การคมนาคม การแพทย์ ที่อยู่อาศัย การบ่มเพาะบุคลากร การศึกษาของบุตรของเจ้าหน้าที่ การเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ รวมไปถึงโครงสร้างทางวัฒนธรรม เป็นต้น นอกจากนี้ นรม.จั๋วฯ ยังได้เรียกร้องให้ NSTC และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทยอยผลักดันและดำเนินภารกิจอย่างเป็นรูปธรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป  เพื่อส่งเสริมให้เกิดความสมดุลระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการสร้างไต้หวันที่มีความสมดุล  ไต้หวันที่เปี่ยมด้วยความทรหด และไต้หวันที่มีความแข็งแรง