ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
นรม.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นประธานการประชุมสภาบริหารครั้งแรกในปีใหม่ ย้ำถึงการสำแดงพลังใหม่ มุ่งสู่ทิศทางใหม่และการประสานสามัคคีเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายและนโยบายต่างๆ
2025-01-03
New Southbound Policy。นรม.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นประธานการประชุมสภาบริหารครั้งแรกในปีใหม่ ย้ำถึงการสำแดงพลังใหม่ มุ่งสู่ทิศทางใหม่และการประสานสามัคคีเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายและนโยบายต่างๆ (ภาพจากสภาบริหาร)
นรม.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นประธานการประชุมสภาบริหารครั้งแรกในปีใหม่ ย้ำถึงการสำแดงพลังใหม่ มุ่งสู่ทิศทางใหม่และการประสานสามัคคีเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายและนโยบายต่างๆ (ภาพจากสภาบริหาร)

สภาบริหาร วันที่ 2 ม.ค. 68
 
เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2568 นายจั๋วหรงไท่ นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้กล่าวสุนทรพจน์ก่อนเปิดการประชุมสภาบริหาร ภายใต้หัวข้อ “ปีใหม่ความหวังใหม่ พลังใหม่ ทิศทางใหม่” โดยนรม.จั๋วฯ กล่าวว่า ความหวังใหม่ของตนเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา ตราบจนปัจจุบัน เวลาได้ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลา 228 วันแล้ว โดยนรม. จั๋วฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือ ผนึกกำลังให้ก่อเกิดเป็นพลังใหม่ ที่พร้อมก้าวสู่ทิศทางใหม่ และหวังว่าทุกหน่วยงานจะประสานสามัคคีในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ที่ได้รับความไว้วางใจจากภาคประชาชน และภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดี ให้บรรลุผลตามเป้าหมายและนโยบายต่างๆ

นรม.จั๋วฯ กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจ และการเสริมสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในสังคม เป็น 2 ภารกิจสำคัญของรัฐบาล ในด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เฉพาะปีที่แล้ว อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวัน คาดว่าจะสูงถึงร้อยละ 4.27 ซึ่งเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้  โดยเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ตลาดหุ้นไต้หวันพุ่งทะยานสู่ 23,035 จุด เพิ่มขึ้น 5,105 จุด สร้างสถิติสูงสุดในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างมูลค่าสูงถึง 80 ล้านล้านเหรียญไต้หวัน โดยเบื้องหลังของตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้น คือการมุ่งแสวงหาสังคมที่มีแบ่งสรรอย่างยุติธรรม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้รับส่วนแบ่งจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นทิศทางที่รัฐบาลต้องมุ่งมั่นต่อไปในอนาคต ประการที่สอง ในด้านเสริมสร้างความมั่นคงและปลอดภัย รัฐบาลจะมุ่งผลักดันนโยบาย “ปราบปราม 5 สร้างความมั่นคง 7 ”  ซึ่งขอบเขตการปราบปราม 5 ประการ ประกอบด้วย ปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย การเงิน อาวุธปืน ยาเสพติดและการฉ้อโกง ส่วนหลักประกันทางความมั่นคง 7 ประการ ประกอบด้วย ความมั่นคงด้านการบริหาร ความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยในการขับขี่ ความปลอดภัยในการทำงาน ความปลอดภัยในสถาบันศึกษา ความปลอดภัยของที่อยู่อาศัยและความมั่นคงทางไซเบอร์” โดยเฉพาะการปราบปรามการฉ้อโกงและภารกิจต่อต้านยาเสพติด ที่พวกเรายังต้องเร่งพัฒนาให้เกิดความครอบคลุม โดยในอนาคต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเปิดการเจรจาเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางที่เกี่ยวข้องในการสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ภาคประชาชนต่อไป
 
ในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงและปลอดภัยในสังคม นรม.จั๋วฯ กล่าวว่า ยังมีความมุ่งหวังอีกหลายประการที่หวังว่าจะกลายเป็นความจริง ประการแรกคือ ภารกิจสำคัญที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของผู้คน ซึ่งก็คือการรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อให้ประชาชนสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิถีชีวิตของตนได้อย่างที่คาดหวัง ประการที่ 2 คือการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจน  ประการที่ 3 คือการผลักดันให้เมืองมีการพัฒนาในรูปโฉมใหม่ และการบูรณะอาคารที่เก่าแก่และไม่ได้มาตรฐาน และประการสุดท้ายคือ การเร่งบรรลุการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ครั้งที่ 2 ของระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าที่มีความมั่นคงปลอดภัยและมีเสถียรภาพ
 
นอกเหนือจากความมุ่งหวังในปี 2568 แล้ว นรม.จั๋วฯ ยังชี้แจงถึงพลังใหม่ ทิศทางใหม่ โดยแหล่งที่มาของพลังใหม่ มีทั้งหมด 4 มิติ ได้แก่ : (1) การธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยตามระบอบรัฐธรรมนูญ (2) สิทธิประโยชน์ของประชาชนที่ควรได้รับการคุ้มครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ รัฐบาลควรมุ่งมั่นปกป้องอย่างเต็มกำลัง (3) ความรับผิดชอบในการสร้างแสนยานุภาพด้านกลาโหม ควบคู่กับการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ และ (4) รัฐบาลมุ่งผลักดันนโยบายด้านการดูแลและการพัฒนาอย่างครอบคลุม ตลอดจนชี้แนะทิศทางที่จะนำพาไปสู่พลังที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
 
นอกจากนี้ สำหรับแกนหลักของทิศทางการพัฒนารูปแบบใหม่ นรม.จั๋วฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า หนึ่งในแนวคิดหลักมาจากญัตติที่เสนอโดย “คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งสภาบริหาร” ซึ่งประกอบด้วย : “แผนพัฒนาประเทศด้วยการลงทุนมูลค่าล้านล้านเหรียญ” “ เพื่อให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบริการสินทรัพย์ในภูมิภาคเอเชีย”  “โครงการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของบุคลากรระดับชาติ” “โครงการพัฒนาและฟื้นฟูความหลากหลายของธุรกิจรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” และ “โครงการพัฒนาความหลากหลายในกลุ่มเยาวชน” นอกจากนี้ ในปี 2568 รัฐบาลยังได้เพิ่มเงินเดือนให้แก่ทหาร ข้าราชการและครู โดยหวังที่จะกระตุ้นให้มีการเพิ่มเงินเดือนในภาคธุรกิจเอกชน ควบคู่ไปกับการเพิ่มความโปร่งใสของโครงสร้างเงินเดือน และจะมุ่งผลักดันแผนปฏิบัติการส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs รวมไปถึงนโยบายสามี-ภรรยาต่างทำงานและดูแลครอบครัวร่วมกัน
 
นรม.จั๋วฯ กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ “คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งสภาบริหาร” ได้ผ่านญัตติที่สำคัญ 2 รายการ ได้แก่ “โครงการ 6 พื้นที่อุตสาหกรรมหลักและชุมชนที่อยู่อาศัย” ซึ่งประกอบด้วย “ระเบียงทองคำย่านเมืองหลวง” ในพื้นที่กรุงไทเป นิวไทเป เมืองจีหลงและอี๋หลาน “โครงการซิลิคอนวัลเล่ย์แห่งนครเถาหยวน ซินจู๋และเหมียวลี่” “นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะความแม่นยำสูง” ในพื้นที่นครไทจง เมืองจางฮั่ว หนานโถวและหยุนหลิน “โครงการซิลิคอนวัลเลย์รูปโฉมใหม่เขตภาคใต้” ในพื้นที่เมืองเจียอี้ ไถหนาน เกาสงและผิงตง “เมืองแห่งวิถีสโลวไลฟ์ทางตะวันออก” ในเมืองอี๋หลาน ฮัวเหลียน ไถตงและทางตอนใต้ของเมืองผิงตง รวมไปถึง “เกาะรอบนอกในรูปแบบคาร์บอนต่ำ” ในพื้นที่จินเหมิน หมาจู่และเผิงหู ซึ่งขณะนี้ แผนการที่เกี่ยวข้อง กำลังอยู่ระหว่างการอนุมัติ ส่วนญัตติรายการที่ 2 คือรัฐบาลได้รวบรวมโครงสร้างพื้นฐานเชิงสาธารณูปโภคที่สำคัญ รวม 140 รายการในแต่ละพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
 
นรม.จั๋วฯ เน้นย้ำว่า นอกเหนือจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลยังมีแนวทางใหม่ซึ่ง ประกอบด้วย (1) การประสานความร่วมมือกับหุ้นส่วนด้านประชาธิปไตยอย่างแนบแน่น เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ (2) สภาบริหารจะจัดตั้งคณะทำงาน เฉกเช่นเดียวกันกับที่ทำเนียบประธานาธิบดี ได้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม” (3) การยืนหยัดในการแลกเปลี่ยนสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ที่มีความเท่าเทียม สมศักดิ์ศรี และเป็นไปอย่างมีระบบ เป้าหมายนี้จะไม่มีวันแปรเปลี่ยนไป (4) จัดตั้งสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เป็นมิตร มั่นคงและปลอดภัย เพื่อส่งเสริมให้วัฒนธรรมองค์กรของระบบราชการ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง (5) กลไกการดูแลผู้สูงวัย เวอร์ชัน 3.0 นอกจากจะเป็นการยกระดับเชิงปริมาณแล้ว ยังจะเป็นการยกระดับคุณภาพ ที่จำเป็นต้องมุ่งผลักดันตั้งแต่สถาบันครอบครัว สวัสดิการทางสังคมไปจนถึงการแพทย์ และ (6) การผลักดันนโยบายชาติอัจฉริยะ 2.0 (Smart Nation 2.0) เพื่อส่งเสริมให้แนวคิด "เกาะเทคโนโลยีอัจฉริยะและสังคมดิจิทัลใหม่" บรรลุเป้าหมายในด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม