ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ สำนักข่าวนิกเกอิและนิกเกอิเอเชีย โดยเน้นย้ำการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ และไต้หวัน – ญี่ปุ่น เพื่อผลักดันการทูตเชิงบูรณาการ
2025-01-08
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวนิกเกอิและนิกเกอิเอเชีย โดยเน้นย้ำการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ และไต้หวัน – ญี่ปุ่น เพื่อผลักดันการทูตเชิงบูรณาการ (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวนิกเกอิและนิกเกอิเอเชีย โดยเน้นย้ำการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ และไต้หวัน – ญี่ปุ่น เพื่อผลักดันการทูตเชิงบูรณาการ (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 7 ม.ค. 68
 
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2568 นายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวนิกเกอิ (Nikkei News) และนิกเกอิเอเชีย (Nikkei Asia) ที่ประจำการในไต้หวัน โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกตีพิมพ์ผ่านเว็บไซต์ข่าวและหนังสือพิมพ์นิกเกอิ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 ภายใต้หัวข้อ “รมว.กต.ไต้หวัน ย้ำจุดยืนการประสานความร่วมมือจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานด้านประชาธิปไตยกับรัฐบาลภายใต้การนำของปธน.ทรัมป์” และ “รมว.กต.ไต้หวัน ย้ำความสำคัญของ “การเสริมสร้างความร่วมมือกับญี่ปุ่นในด้านการรับมือภัยพิบัติ” ซึ่งได้ความสนใจและถูกให้ความสำคัญจากประชาคมโลก

รมว.หลินฯ กล่าวในระหว่างการสัมภาษณ์ว่า การผงาดขึ้นของจีนส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานกฎกติกาสากล ประกอบกับไต้หวันเป็นจุดพลิกผันในการเปลี่ยนสมดุลโลก (tipping point) เรามิใช่หมาก แต่เป็นผู้เล่นอีกฝั่งในเกมกระดาน รมว.หลินฯ เน้นย้ำว่า งบประมาณทางกลาโหมของไต้หวัน ได้รับการจัดสรรเพิ่มสูงขึ้นสู่ร้อยละ 2.5 ของ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่แซงหน้าญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การนาโต้ (NATO) นอกจากนี้ พวกเรายังเตรียมพร้อมในการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระบุเกี่ยวกับการเสริมสร้างความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง ควบคู่ไปกับการเพิ่มงบประมาณทางกลาโหม และมุ่งยกระดับความร่วมมือทางความมั่นคง ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ตลอดจนคาดหวังที่จะเปิดการอภิปรายและหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ อาทิ การประยุกต์ใช้ศักยภาพด้านการผลิตที่เปี่ยมคุณภาพของไต้หวัน ในการยกระดับความเป็นไปได้เชิงการผลิตในรูปแบบการเลือกทำธุรกิจเฉพาะกับ “มิตรประเทศ” (friend-shoring) พร้อมกันนี้ รมว.หลินฯ ยังได้ระบุอีกว่า ความร่วมมือในการผลักดันการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ มีความสำคัญยิ่งยวด เนื่องจากอากาศยานไร้คนขับเป็นแกนหลักสำคัญของยุทธวิธีสงครามอสมมาตร
 
ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น รมว.หลินฯ หวังที่จะเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและกระชับความร่วมมือกับญี่ปุ่น ในด้านการบรรเทาภัยพิบัติและการให้ความช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรม ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว สำนักงานป้องกันชายฝั่งไต้หวันและกองกำลังรักษาชายฝั่งญี่ปุ่น ร่วมเปิดฉากการฝึกซ้อมด้านการกู้ภัยระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถสั่งสมประสบการณ์ความร่วมมือ ผ่านแนวทางการรับมือภัยพิบัติ นอกจากนี้ รมว.หลินฯ ยังได้ให้คำชี้แนะว่า ทั้งสองฝ่ายควรมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือด้านการลาดตระเวณชายฝั่งทะเล รวมถึงความมั่นคงในพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ และความร่วมมือทางความมั่นคง ทั้งนี้ เพื่อที่จะสามารถรับมือกับภัยคุกคามทางการทหารจากจีนในภายภาคหน้า  
 
ในด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน เป็นหัวใจสำคัญของห่วงโซ่อุปทานโลก และกลายเป็นจุดสนใจของนักลงทุนทั่วโลก ซึ่งเป็นการยกระดับสถานภาพของไต้หวันในกลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับนานาชาติ โดยรมว.หลินฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่น มุ่งผลักดันการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (Economic Partnership Agreement, EPA) โดยเร็ววัน ซึ่งเชื่อว่า ความตกลงฉบับนี้จะเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ระหว่างไต้หวัน - ญี่ปุ่น และมีส่วนช่วยในการผลักดันให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) ต่อไปในภายภาคหน้า นอกจากนี้ รมว.หลินฯ ยังได้ระบุว่า จวบจนปัจจุบัน ไต้หวัน – ญี่ปุ่น ได้มีการลงนามเอกสารทางความร่วมมือที่เกี่ยวข้องแล้วประมาณ 90 รายการ จึงสมควรแก่การก้าวไปสู่การเจราจาและลงนามความตกลงทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม
 
รมว.หลินฯ กล่าวว่า กลยุทธ์ “การทูตเชิงบูรณาการ” ของไต้หวัน ยึดมั่นใน 3 หลักการสำคัญ ที่ประกอบด้วย การทูตเชิงค่านิยม การทูตเชิงพันธมิตรและการทูตเชิงเศรษฐกิจ โดยรมว.หลินฯ ได้ยื่นเสนอแนวคิด “ห่วงโซ่ด้านประชาธิปไตย” หรือ “ห่วงโซ่อุปทานที่ไม่มีจีนเป็นแกนหลัก”  เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับยุทธศาสตร์ห่วงโซ่อุปทานของจีน นอกจากนี้ รมว.หลินฯ ยังเน้นย้ำว่า รัฐบาลจีนกำลังพยายามที่จะอาศัย “การริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative, BRI) และ “เส้นทางสายไหมดิจิทัล” (Digital Silk Road) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศอื่น เพื่อคานอำนาจที่เกิดจากการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงมุ่งมั่นที่จะอาศัยข้อได้เปรียบด้านเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) พร้อมประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในการจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานด้านประชาธิปไตยที่เปี่ยมด้วยความทรหด โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยซัพพลายเออร์จากจีน ไต้หวันนอกจากจะเป็นพลังสำคัญในการส่งเสริมสันติภาพระดับภูมิภาคและความเจริญรุ่งเรืองระดับโลก ยังเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ในด้านการธำรงรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับโลก โดยพวกเราจะมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึกกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน
 
Nikkei Asia ยังได้แนะนำหนังสือใหม่ของรมว.หลินฯ ภายใต้ชื่อ “ดินแดนแห่งเศรษฐกิจที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน” โดยมีเนื้อหาที่ระบุว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ส่งเสริมให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็นฐานการลงทุนที่ได้รับความนิยมจากประชาคมโลก และยังทำให้ความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน กลายเป็นประเด็นระดับสากล ควบคู่กับเป็นการยกระดับสถานภาพของไต้หวันในสากล จึงอาจกล่าวได้ว่า พวกเรามีศักยภาพทางการทูตในกลุ่มประเทศอำนาจปานกลาง