
สภาบริหารและทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 7 ม.ค. 68
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 นายจั๋วหรงไท่ นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับคณะตัวแทนสมาคมการค้าสหรัฐฯ - ไต้หวัน (USTBC) พร้อมทั้งกล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ยังคงขยายตัวในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง โดยนรม.จั๋วฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะยังคงมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคี ในทิศทางที่ดีและขานรับต่อกระแสใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น บนพื้นฐานที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางความร่วมมือ อันจะนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันต่อไป โดยนรม.จั๋วฯ แสดงความคาดหวังว่า USTBC กระตุ้นให้รัฐบาลสหรัฐฯ เล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ตลอดจนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่าย จะเร่งเปิดการเจรจาความตกลงฉบับที่สอง ภายใต้ “แผนริเริ่มการค้าแห่งศตวรรษที่ 21 ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ” ให้เกิดขึ้นโดยเร็ววัน
ในช่วงเริ่มต้นของการปราศรัย นรม.จั๋วฯ ได้กล่าวต้อนรับคณะตัวแทน USTBC ที่มุ่งผลักดันการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางภาคธุรกิจ ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ อย่างกระตือรือร้น และแสดงความขอบคุณที่ USTBC นำคณะตัวแทนผู้ประกอบการภาคธุรกิจเดินทางเยือนไต้หวัน เป็นครั้งที่สอง ภายในระยะเวลาเพียงครึ่งปี โดยเฉพาะในครั้งนี้ คณะตัวแทนล้วนมาจากภาคอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท ซึ่งครอบคลุมทั้งในด้านเซมิคอนดักเตอร์ การเงิน กลาโหม วิชาการและการแพทย์ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางความร่วมมือแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ในหลากหลายด้าน
นรม.จั๋วฯ ระบุว่า แม้ว่าระยะนี้ ไต้หวันต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากสถานการณ์โรคระบาดหรือความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่ภายใต้ความมุ่งมั่นพยายามของภาคประชาชนในประเทศ และภายใต้ความช่วยเหลือของกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตยทั่วโลก ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันโดยเฉลี่ย ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2566 สูงถึงร้อยละ 3.2 และคาดการณ์ว่าจะแตะร้อยละ 4.27 ในปี 2567 ซึ่งในจำนวนนี้ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์สวมบทบาทที่สำคัญยิ่ง ประกอบกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ต่างมีส่วนร่วมในการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติด้วยเช่นกัน
เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจไต้หวัน และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล นรม.จั๋วฯ ระบุว่า สภาบริหารได้จัดการประชุมหารือ “คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ” ขึ้นหลายรอบ โดยมุ่งเน้นประเด็นใน 3 มิติหลัก ประกอบด้วย “เศรษฐกิจนวัตกรรม” “ไต้หวันที่สมดุล” และ “การเติบโตที่ยอมรับซึ่งกันและกัน” และได้ร่วมบรรลุญัตติที่สำคัญหลายรายการ ได้แก่ “แผนการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ มูลค่าล้านล้านเหรียญ” “แผนยกระดับศักยภาพการแข่งขันของบุคลากร” และ “โครงการพัฒนาและฟื้นฟูความหลากหลายของผู้ประกอบการ SMEs” ตลอดจนการสร้างให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็น “ศูนย์บริหารสินทรัพย์ในภูมิภาคเอเชีย” นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้กำหนดพื้นที่เพื่อดำเนิน “โครงการ 6 พื้นที่อุตสาหกรรมหลักและชุมชนที่อยู่อาศัย” ภายใต้แนวคิด “ไต้หวันที่สมดุล” ควบคู่ไปกับการรวบรวมโครงสร้างพื้นฐานเชิงสาธารณูปโภคที่สำคัญ รวม 140 รายการในแต่ละพื้นที่ของไต้หวัน เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ “แผนปฏิบัติการด้านการลงทุนในไต้หวัน 3 ประการ” ได้ขยายเวลาออกไปถึงสู่ ปี 2570 ซึ่งคาดว่า ภายในระยะเวลา 3 ปีจะสามารถสร้างมูลค่าการลงทุนได้สูงถึง 600,000 ล้านเหรียญไต้หวัน และสามารถสร้างโอกาสงานได้มากถึง 40,000 อัตรา
เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ นรม.จั๋วฯ ระบุว่า ความตกลงฉบับแรกภายใต้ “แผนริเริ่มการค้าแห่งศตวรรษที่ 21” มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2567 จึงหวังว่าจะมีการเปิดการเจรจาเพื่อลงนามความตกลงฉบับที่สองโดยเร็ววัน พร้อมทั้งแสดงความหวังว่า ไต้หวันและสหรัฐฯจะร่วมกันเสริมสร้างรากฐานความร่วมมือแบบทวิภาคีให้ก้าวไปสู่อีกขั้น ภายใต้กลไกความร่วมมือ อย่างการเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจไต้หวัน – สหรัฐฯ (EPPD) และกรอบความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนทางเทคโนโลยี (TTIC)
นรม.จั๋วฯ ยังใช้โอกาสนี้ในการแสดงความขอบคุณต่อกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ที่ได้ประกาศ “แผนกลยุทธ์ทางอุตสาหกรรมกลาโหม” (NDIS) เมื่อปีที่แล้ว โดยได้กำหนดให้ไต้หวันเข้าสู่เครือข่าย “การเลือกทำธุรกิจเฉพาะกับประเทศที่เป็นมิตรทางการเมือง” (Friend-Shoring) ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุตสาหกรรมทางกลาโหมของสหรัฐฯ โดย นรม.จั๋วฯ เน้นย้ำว่า “เทคโนโลยีคือพลังแห่งชาติ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจก็เปรียบเสมือนความมั่นคงแห่งชาติ”
Mr. Rupert Hammond-Chambers หัวหน้าคณะตัวแทน USTBC ระบุว่า ขณะนี้ ยอดการลงทุนของไต้หวันในสหรัฐฯ ครองสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 30 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดในต่างประเทศของไต้หวัน การหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้ำซ้อน จึงได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่า การร่วมลงนาม “ความตกลงว่าด้วยการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้ำซ้อน” จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการลงทุนแบบทวิภาคี Mr. Hammond แสดงความคาดหวังว่า หลังจากที่รัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศได้รับการสืบสานให้คงอยู่ต่อไป พร้อมมุ่งไปสู่ทิศทางที่โปร่งใสและมีเสถียรภาพ โดยบรรดาสมาชิก USTBC จะยังคงมุ่งแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือกับรัฐบาลไต้หวันอย่างเหนียวแน่นสืบต่อไป
ในช่วงเช้าของวันเดียวกันนี้ คณะตัวแทน USTBC ยังได้เข้าพบคารวะรองประธานาธิบดีเซียวเหม่ยฉินแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยรองปธน.เซียวฯ คาดหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึกระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าและความมั่นคง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ
รองปธน.เซียวฯ ระบุว่า พวกเราจะมุ่งสร้างไต้หวันที่มีความสมดุล ซึ่งครอบคลุมทั้งในส่วนของการพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีระดับนานาชาติ การสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแบบดั้งเดิม และการพัฒนาที่สมดุลในภูมิภาค โดยในอนาคต พวกเรายังมีภารกิจที่ต้องดำเนินการอีกมาก ในจำนวนนี้ การประสานความร่วมมือกับทางการสหรัฐฯ และภาคธุรกิจสหรัฐฯ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รองปธน.เซียวฯ จึงคาดหวังว่า ทุกภาคส่วนจะมุ่งรักษาความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งและหนักแน่นระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป