
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 20 ม.ค. 68
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 20 มกราคม 2568 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “การประชุมรายงานกิจการตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไต้หวัน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568” โดยปธน.ไล่ฯ ได้ให้กำลังใจและกำชับให้บรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจ “มุ่งปราบปรามการก่ออาชญากรรมของแก๊งมิจฉาชีพ” “เสริมสร้างศักยภาพทางดิจิทัล” และ “เสริมสร้างความร่วมมือแบบข้ามพรมแดน” โดยรัฐบาลจะมุ่งดำเนินภารกิจการปฏิรูปกิจการตำรวจ การสืบสวนทางเทคโนโลยีและการวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เจ้าหน้าที่ในการปราบปรามการก่ออาชญากรรมอย่างแม่นยำ ควบคู่ไปกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม ตลอดจนคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน
ปธน.ไล่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ตำรวจคือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ และเป็นผู้กำกับดูแลความปลอดภัยทางจราจร ตลอดจนเป็นพี่เลี้ยงของประชาชน ซึ่งนอกจากจะมีหน้าที่ขจัดการใช้ความรุนแรง รักษาความยุติธรรมและความสงบเรียบร้อยในภาคประชาสังคม ควบคู่ไปกับการคุ้มครองความปลอดภัยของคนเดินถนน และช่วยแก้ไขปัญหาความคล่องตัวของการจราจรบนท้องถนน ตลอดจนดูแลประชาชน เพื่อให้สังคมสามารถเดินหน้าต่อไปในทิศทางที่มุ่งสู่ความเจริญรุ่งเรือง จึงจะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสร้างคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติ สังคมและประชาชน ปธน.ไล่ฯ จึงขอใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนที่ยืนหยัดปกป้องประชาชนอย่างกล้าหาญ โดยไม่แบ่งแยกเขตพื้นที่ และพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง ใน 365 วัน
ปธน.ไล่ฯ ยังได้แสดงความขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนที่มุ่งปฏิบัติภารกิจใน 3 มิติหลัก ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั้ง “การปราบปรามการฉ้อโกง” “การปฏิรูปกิจการตำรวจ” และ “การดูแลเจ้าหน้าที่ตำรวจ” ซึ่งบังเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัด นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว พวกเราได้กำหนดและแก้ไข “4 แนวทางการปราบปราม” พร้อมมุ่งขยายศักยภาพการรับมือเป็นวงกว้าง ผ่าน “ศูนย์บัญชาการปราบปรามการฉ้อโกง” ภายใต้การกำกับดูแลของสภาบริหาร
ภายใต้ความพยายามร่วมกันของทุกฝ่าย เมื่อปีที่แล้ว พวกเราประสบความสำเร็จในการทลายแก๊งมิจฉาชีพ จำนวน 2,430 คดี และอายัดทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบ รวมมูลค่ากว่า 14,400 ล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งนอกจากมีการประยุกต์ใช้เว็บไซต์ “แดชบอร์ดการปราบปรามการฉ้อโกง” (https:// 165dashboard.tw/) อย่างต่อเนื่อง ยังมีการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถทำความเข้าใจกับกลลวงรูปแบบใหม่ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเพื่อสามารถหลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อ จากข้อมูลในแดชบอร์ด คดีฉ้อโกงที่ถูกเปิดโปงและมูลค่าทรัพย์สินที่อายัดได้ แม้ว่าจะบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีกว่าปีก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังคงมีอีกหลายคดีที่จำเป็นต้องได้พยายามหาทางทลายคดีให้ได้ต่อไป ไต้หวันได้รับแจ้งคดีฉ้อโกง เฉลี่ยวันละ 500 คดี เฉลี่ยปีละ 182,500 คดี อย่างไรก็ตาม สามารถทลายคดีได้เพียง 2,430 คดี แสดงให้เห็นว่า ยังมีคดีในลักษณะนี้อีกประมาณร้อยละ 90 ที่ยังคงต้องพยายามต่อไป โดยในระยะเวลา 1 ปี สังคมไต้หวันถูกแก๊งมิจฉาชีพหลอกลวงต้มตุ๋น คิดเป็นมูลค่า 182,500 ล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งทรัพย์สินที่พวกเราอายัดมาได้ มีมูลค่ารวมเพียง 14,400 ล้านเหรียญไต้หวัน จึงจะเห็นได้ว่า การทลายคดีครองสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป “แผนแม่บทการปราบปรามการฉ้อโกง เวอร์ชัน 2.0” มีผลบังคับใช้แล้ว โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อขยายเครือข่ายการสกัดกั้นเป็นวงกว้าง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างกลไกการกำกับและตรวจสอบอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยในลำดับต่อไป พวกเราจะต้องมุ่งมั่นในการประสานความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อสกัดกั้นการฉ้อโกงตั้งแต่ต้นตอ ควบคู่ไปกับการเพิ่มการรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชน
ในส่วนของการปฏิรูปกิจการตำรวจ เมื่อปีที่แล้วได้มีการปรับเปลี่ยนระบบฐานข้อมูลสถิติคดีอาญาที่จัดตั้งมาเป็นระยะเวลากว่า 65 ปี ควบคู่ไปกับการบูรณาการระหว่างฐานข้อมูลคดีอาญาและแพลตฟอร์มบริหารรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมให้การปฏิบัติภารกิจมีขั้นตอนที่ง่ายและกระชับยิ่งขึ้น
ปธน.ไล่ฯ เน้นย้ำว่า การปฏิรูปกิจการตำรวจจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ก้าวทันกระแสโลก ขณะเดียวกัน ก็ต้องยึดมั่นในจิตวิญญาณขั้นพื้นฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งประกอบด้วย (1) ดูแลประชาชนดุจญาติมิตร (2) ดำเนินคดีด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ไม่เพิกถอนคดีตามอำเภอใจ และ (3) ใช้ชีวิตเรียบง่าย ด้วยการหลีกเลี่ยงการรับสินบน
นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว นางหลิวซื่อฟาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบและส่งเสริมความมั่นคงในการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย” โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมหลักประกันด้านสิทธิและความมั่นคงของเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย ผ่านการจัดตั้งหน่วยงานอย่างเป็นทางการ
สำหรับแผนปฏิบัติการดูแลที่เสนอโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย ในช่วงหลายปีมานี้ ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ในช่วงที่ปธน.ไล่ฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการผลักดัน การเพิ่มเงินเดือน 1 ขั้นให้แก่ข้าราชการตำรวจชั้นประทวน และยังเพิ่มฐานเงินเดือนที่จะนำไปคำนวณเงินบำนาญให้สูงขึ้น นอกจากนี้ ยังให้ความใส่ใจดูแลสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจในแนวหน้า และปรับวงเงินค่าล่วงเวลาของเจ้าหน้าที่ให้สูงถึง 19,000 เหรียญไต้หวัน
ปธน.ไล่ฯ ระบุว่า การฉ้อโกงผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต การโจมตีผ่านแฮกเกอร์และธุรกรรมผิดกฎหมายในดาร์กเว็บ (Dark web) มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความซับซ้อนซ่อนเงื่อนและกระทำการแบบข้ามพรมแดน ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ พวกเราจึงจำเป็นต้องยกระดับศักยภาพการดำเนินคดีผ่านตัวช่วยทางเทคโนโลยี เข้าปราบปรามการก่ออาชญากรรมในรูปแบบเทคโนโลยี โดยรัฐบาลจะมุ่งเสริมสร้างศักยภาพการตรวจสอบทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ศูนย์ปราบปรามการก่ออาชญากรรมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง (High-Tech Crime Center) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (Forensic Science Center) ภายใต้การกำกับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไต้หวัน ได้รับการบรรจุเข้าสู่ระบบกฎหมายแล้ว เชื่อว่าจะเป็นการยกระดับศักยภาพการตรวจสอบรูปแบบดิจิทัลอย่างครอบคลุม และเป็นการเสริมสร้างความแม่นยำของการวิเคราะห์ข้อมูล และการกำหนดนโยบายในอนาคตต่อไป ด้วยเหตุนี้ ปธน.ไล่ฯ จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมุ่งเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินคดีในรูปแบบดิจิทัล เพื่อปราบปรามการก่ออาชญากรรมรูปแบบใหม่ต่อไปในภายภาคหน้า
เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนกิจการตำรวจระหว่างประเทศแล้ว เมื่อปีที่แล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติไต้หวันยังได้ร่วมจัดค่ายฝึกอบรมนานาชาติ ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) และการประชุมความร่วมมือกิจการตำรวจระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปราบปรามอาชญากรรมแบบข้ามพรมแดนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับอาวุโสจาก 45 ประเทศ นอกจากนี้ยังได้ระบุว่า หลายปีมานี้ มีข่าวกรองแจ้งว่า ประชาชนชาวไต้หวันที่ถูกล่อลวงไปยังเมียนมาและกัมพูชา และถูกกระทำการทารุณด้วยวิธีการอันไร้ซึ่งมนุษยธรรม ปธน.ไล่ฯ จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสภาบริหาร เร่งหาแนวทางการรับมือโดยเร็ววัน
นอกจากนี้ สนง.ตำรวจแห่งชาติยังได้ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ตามเกณฑ์การทดสอบ “ผู้เชี่ยวชาญด้านการสกัดกั้นการฟอกเงินและการปราบปรามการก่อการร้าย” ซึ่งมีเจ้าหน้าที่หลายคนที่สำเร็จหลักสูตรและได้รับประกาศนียบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านการปราบปรามการฟอกเงิน (Certified Anti-Money Laundering Specialist, CAMS) โดยในอนาคต พวกเราจะมุ่งพัฒนาความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนกับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างศักยภาพความเป็นมืออาชีพ และมุ่งขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายของไต้หวัน เพื่อผลักดันให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในระดับสากลมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการคุ้มครองความมั่นคงของประชาชนอย่างครอบคลุมมากขึ้น