
สภาบริหาร วันที่ 22 ม.ค. 68
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 นางเจิ้งลี่จวิน รองนายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมงานนิทรรศการและการประชุม ภายใต้ชื่อ “โครงการนำร่องการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ สำหรับภาคพลเรือน ด้วยการจัดตั้งแผนแม่บทสังคมปลอดคาร์บอน ด้วยศักยภาพทางเทคโนโลยี พลังภาคประชาสังคมและพลังเครือข่าย” พร้อมนี้ รองนรม.เจิ้งฯ ได้ระบุว่า ขณะนี้ รัฐบาลได้มุ่งดำเนินภารกิจ “การลดคาร์บอนจากแหล่งต้นกำเนิด” ใน 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานด้านพลังงาน การผลิต การคมนาคมขนส่ง อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์ การเกษตรและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ควบคู่ไปกับการเสนอ “ระบบการจัดการเชิงนวัตกรรม 5 ประการ” ได้แก่ (1) การอัดฉีดเทคโนโลยีเข้าช่วยในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (2) การเปลี่ยนผ่านทางอุตสาหกรรม ด้วยนวัตกรรมทางการเงินและการเงินสีเขียว (3) การกำหนดกลไกราคาคาร์บอน (4) การผลักดันการแปรญัตติร่างกฎหมาย และ (5) การขยายกลไกการฝึกอบรมบุคลากรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ตลอดจนกระตุ้นการขับเคลื่อนการพัฒนาในชุมชน และผนวกรวมกับศักยภาพด้านนวัตกรรมของภาคประชาชน เพื่อมุ่งพิชิตเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (NET ZERO) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาคมโลกมองเห็น ต้นแบบการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศรูปแบบใหม่ของไต้หวัน
รองนรม.เจิ้งฯ กล่าวว่า คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ริเริ่มผลักดันแผนปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมาและได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน ภายใต้โครงการเทคโนโลยี NET ZERO เพื่อการบูรณาการศักยภาพทางเทคโนโลยี วิชาการและพลังภาคประชาสังคม เข้าสู่นโยบายการวิจัยและพัฒนาแบบสหวิทยาการ ก่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย NET ZERO และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
รองนรม.เจิ้งฯ ระบุว่า ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศวิสัยทัศน์ “การเติบโตในทิศทางสีเขียว และการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (NET ZERO)” ภายใต้ “โครงการความหวังของชาติ” และได้มีการเสนอแนวทางเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน รวม 5 ประการ ประกอบด้วย (1) จัดทำแผนยุทธศาสตร์พลังงานสีเขียวรูปแบบอัจฉริยะ (2) ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (3) สร้างวิถีการดำรงชีวิตรูปแบบสีเขียวอย่างยั่งยืนเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมาย NET ZERO (4) รัฐบาลจะทำหน้าที่เป็นเกราะให้การสนับสนุนที่แข็งแกร่งในภารกิจ NET ZERO และ (5) การผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม โดยที่ไม่ละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง โดยในช่วงระหว่าง 2 ปีที่มีการผลักดันโครงการนำร่อง มีหน่วยงานที่เข้าร่วมดำเนินโครงการเบื้องต้น จำนวน 35 แห่ง และมีกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่เข้าร่วมโครงการ ภายใต้หัวข้อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี NET ZERO ในรูปแบบที่หลากหลาย ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก (Mini Hydropower) การเกษตรแบบคาร์บอนต่ำ การประยุกต์ใช้วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร การผลิตและจำหน่ายแบบยั่งยืนและการพัฒนาชุมชน แหล่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติ และเศรษฐกิจหมุนเวียนในเมืองหลวง เป็นต้น
รองนรม.เจิ้งฯ แถลงว่า สภาบริหารจะเสนอเป้าหมายขั้นต่อไปของไต้หวัน ซึ่งก็คือ “การกำหนดคุณประโยชน์แห่งชาติ” (Nationally Determined Contributions, NDCs3.0) ในระหว่าง “การประชุมคณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ” ที่ปธน.ไล่ชิงเต๋อเป็นประธานการประชุม ซึ่งประกอบด้วย เป้าหมายการลดคาร์บอนในปี 2573 , 2575 และ 2578 ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมโยงสู่เวทีนานาชาติ ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของไต้หวันในการพิชิตเป้าหมาย NET ZERO