
กระทรวงวัฒนธรรม วันที่ 4 ก.พ. 68
มหกรรมหนังสือนานาชาติไทเป (Taipei International Book Exhibition, TIBE) ได้เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ศูนย์แสดงสินค้าไทเปเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ อาคาร 1 ซึ่งธีมของงานในปีนี้คือ “ท่องโลกต่างแดน” โดยมีอิตาลีเป็น Guest of Honor ประจำปี ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้เกียรติเข้าร่วมงาน พร้อมกล่าวว่า “การลงทุนในตลาดหุ้น อาจจะมีทั้งกำไรและขาดทุน แต่การลงทุนกับตัวเอง มีแต่กำไรล้วนๆ” โดยกิจกรรมประจำปีนี้มีสำนักพิมพ์ 504 แห่งจาก 29 ประเทศ เข้าร่วมจัดแสดงผลงาน จึงขอเชิญชวนให้ผู้อ่านเข้าร่วมสำรวจโลกวัฒนธรรมของ 29 ประเทศไปพร้อมๆ กัน
นายหลี่หย่วน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (Ministry of Culture, MOC) กล่าวว่า บทเพลง “Nessun dorma ” และ “Libiamo ne' lieti calici” ที่ถูกบรรเลงในช่วงแรกของพิธีเปิดงาน ได้สร้างบรรยากาศให้ประชาชนร่วมดื่มด่ำไปกับเสน่ห์แห่งอิตาลี ซึ่งเป็น Guest of Honor ประจำปีนี้ โดยผู้ประกอบการจากอิตาลีได้จัดนิทรรศการผลงานภาพประกอบจากศิลปินหน้าใหม่ และผลงานการ์ตูน รวมถึงทำการคัดเลือกหนังสือนิทานสำหรับเด็ก อีกทั้งยังได้เชิญนักเขียนชาวอิตาลี 11 ราย จัดเวทีการเสวนาแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม โดยในคูหาดิจิทัลของไต้หวัน ได้มีการวางแผนรังสรรค์ผลงานที่เกิดจากความร่วมมือของนักเขียนชาวไต้หวัน 8 คน ผนวกเข้ากับเทคโนโลยี AI ภายใต้ชื่อ “เมื่อวานฉันได้เข้าร่วมเขียนนิยาย 1 บทด้วยตนเอง” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานชื่อ “If on a winter's night a traveler” ที่ประพันธ์โดย Mr. Italo Calvino นักเขียนชาวอิตาลี
รมว.หลี่ฯ กล่าวว่า MOC จะมุ่งให้การสนับสนุนผลงานเยาวชน ผลงานภาพวาดและหนังสือภาพอย่างกระตือรือร้น อันจะเห็นได้จากการจัด “มหกรรมหนังสือเด็กและเยาวชนนานาชาติไต้หวัน” และ “T-comics ยุคแห่งการ์ตูนไต้หวันใหม่” ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการพิมพ์ ด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมการ์ตูน จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์หนังสือออกใหม่ และผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของอุตสาหกรรมการพิมพ์ นอกจากนี้ ยังได้เชิญชวนให้ผู้ซื้อชาวต่างชาติเดินทางเยือนไต้หวัน ผ่านโครงการ Books From Taiwan ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผลงานวรรณกรรม การ์ตูนและหนังสือนิทานของไต้หวัน ก้าวขึ้นสู่เวทีนานาชาติต่อไป
นางอู๋หยุ่นอี๋ ประธานมูลนิธิมหกรรมหนังสือไทเป กล่าวว่า มหกรรมหนังสือนานาชาติไทเป นอกจากจะเป็นการเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ประจำปีแล้ว ยังเป็นเวทีการแสดงทางวัฒนธรรมที่สำคัญของไต้หวัน โดยสำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมมหกรรมในครั้งนี้ ต่างตั้งอกตั้งใจจัดกิจกรรมร่วมพันรายการ เพื่อให้ประชาชนที่เดินเข้าสู่ภายในงานรู้สึกประทับใจ เมื่อได้พบเห็นความปราณีตและพลังสดใสของผลงานสื่อสิ่งพิมพ์ โดยอู๋ฯ ยังกล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของ TIBE คือ ต้องการให้ทุกคนตระหนักว่า ไต้หวันเป็นแหล่งรวมตัวของผู้คนที่มีความอบอุ่น มีอารมณ์ความรู้สึกและมีความฝัน “พวกเราสามารถสร้างอนาคตได้ด้วยตนเอง”
เพื่อขานรับหัวข้อ “ท่องโลกต่างแดน” ของ TIBE ในปีนี้ พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (National Human Rights Museum, NHRM) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดแสดงผลงานที่เกี่ยวข้องของเหยื่อทางการเมืองที่ถูกเก็บรักษาไว้ในหอสมุดของพิพิธภัณฑ์ ภายใต้ชื่อ “ร่วมค้นหาสิทธิมนุษยชน (Discovery)” อีกทั้งยังได้มีการนำหนังสือและสินค้าสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรมรูปโฉมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชน มาวางจำหน่าย นอกจากนี้ ยังได้วางแผนจัดเวทีการเสวนาในหัวข้อต่างๆ พร้อมทั้งเชิญศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานยอดเยี่ยม ทั้งในด้านวรรณกรรม หนังสือนิทานและสื่อทัศนศิลป์ เข้าร่วมแบ่งปันการสำรวจประเด็นสิทธิมนุษยชนในเชิงลึก และข้อคิดที่ได้จากประวัติศาสตร์ความน่าสะพรึงสีขาว เมื่อครั้งอดีต
ภาพทัศนศิลป์หลักของคูหา NHRM ในปีนี้ ได้รับการออกแบบในรูปลักษณ์ของเซี่ยจื้อ (xiezhi) ซึ่งเป็นสัตว์ในเทพนิยายของเอเชียตะวันออก เชื่อกันว่า สามารถแยกแยะถูกผิดได้โดยสัญชาตญาณ จึงถือกันเป็นสัญลักษณ์แห่งกระบวนการยุติธรรม โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “บ่อน้ำพุเซี่ยจื้อ” ที่ตั้งอยู่ ณ ลานหน้าอาคารเหรินอ้าย ในอุทยานรำลึกเหตุการณ์ความน่าสะพรึงสีขาวเขตจิ๋งเหม่ย ซึ่งสื่อถึงความกล้าหาญและความหวังของการสำรวจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ที่สอดรับกับหัวข้อของคูหาที่ว่า “ร่วมค้นหาสิทธิมนุษยชน”
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการกิจการชนพื้นเมืองไต้หวัน (Council of Indigenous Peoples, CIP) ได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์งานมหกรรมหนังสือ ภายใต้ชื่อ “ความทรงจำแห่งมหาสมุทร : วัฒนธรรมที่เชื่อมโยงและการคงอยู่ของมหาสมุทรแปซิฟิก” (Oceanic Memories : Interwoven and Enduring Cultures of the Pacific) โดยมี Mr. Calivat‧Gadu รองประธาน CIP ทำหน้าที่เป็นประธาน พร้อมกล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2561 ที่ได้ประสานความร่วมมือกับ MOC ผลักดัน “โครงการแปลผลงานวรรณกรรม ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมออสโตรนีเซียน” ตราบจนปัจจุบัน ได้ประสบความสำเร็จในการผลักดันผลงานวรรณกรรมแปลที่สำคัญ 8 รายการ ที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และนโยบายของกลุ่มประเทศทวีปโอเชียเนีย และกลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ รองปธ. Gadu ยังกล่าวว่า ในปีนี้คูหา CIP จัดขึ้นภายใต้ชื่อ “ความทรงจำแห่งมหาสมุทร” เพื่อมุ่งเป้าการสำรวจไปที่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกลุ่มชนพื้นเมืองในภาคพื้นแปซิฟิก รวมไปถึงการส่งต่อและการสืบสานวัฒนธรรม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะนำพาผู้เข้าชม มองเห็นความเชื่อมโยงอันลึกซึ้งทางวัฒนธรรมกลุ่มชนพื้นเมือง ควบคู่ไปกับการแสดงให้เห็นถึงความทรหดและพลังสร้างสรรค์ของกลุ่มชนพื้นเมือง
นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติหรือกู้กง (National Palace Museum, NPM) ยังได้เข้าร่วมจัดคูหาขึ้น ภายใต้ชื่อ “ศิลปะร้อยปี ย้อนรอยอดีตในห้วงประวัติศาสตร์” โดยนำสื่อสิ่งพิมพ์ของกู้กง มาจำหน่ายในราคาส่วนลดกว่า 30% ขึ้นไป นอกจากนี้ ยังมีของกำนัลพิเศษจากการเข้าร่วมกิจกรรมถาม - ตอบ และของแถม เมื่อมียอดสั่งซื้อครบ