
กระทรวงการเกษตร วันที่ 5 ก.พ. 68
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 กระทรวงเกษตร (Ministry of Agriculture, MOA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดงานแถลงข่าวการส่งออกปลาเก๋ามุกมังกรไต้หวันไปยังญี่ปุ่นล็อตแรก โดยมีนายเฉินจวิ้นจี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตร ทำหน้าที่เป็นประธาน ซึ่งสินค้าล็อตดังกล่าวถูกสั่งซื้อโดยบริษัทรถไฟญี่ปุ่นตะวันตก (West Japan Railway Company) เพื่อนำไปใช้ประกอบเมนูอาหารและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในรถเข็นจำหน่ายอาหารบนรถไฟนำเที่ยวขบวนพิเศษ The Rail Kitchen Chikugo รวมไปถึงโรงแรมและซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งคาดว่าประชาชนในเขตพื้นที่เมืองฟูกูโอกะ เกาะคิวชู จังหวัดเกียวโตและเมืองซัปโปโร จะมีโอกาสได้ลิ้มลองปลาเก๋าคุณภาพสูงของไต้หวัน
รมว.เฉินฯ กล่าวชี้แจงว่า ที่ผ่านมา เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับสารพิษซิกัวทีรา (Ciguatera) ส่งผลให้ปลาเก๋ามุกมังกรไม่สามารถถูกส่งออกไปจำหน่ายยังญี่ปุ่นได้ หลังจากที่ MOA ได้มุ่งมั่นพยายามมาเป็นระยะเวลา 8 ปี ทั้งการยื่นเสนอแผนการในการประชุมเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - ญี่ปุ่น และยื่นเสนอหลักฐานการวิจัยและการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งกลไกการบริหารความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงความเชื่อถือได้ของคุณภาพความปลอดภัยของปลาเก๋าที่เพาะเลี้ยงในไต้หวัน ซึ่งได้รับการยอมรับจากญี่ปุ่นแล้วในปัจจุบัน โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศอนุมัติการนำเข้าปลาเก๋ามุกมังกรจากไต้หวันอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ซึ่งผลสัมฤทธิ์นี้แสดงให้เห็นว่า ไต้หวันได้รับการยอมรับจากตลาดญี่ปุ่นที่มีมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารเข้มงวดที่สุด ทั้งในด้านการบริหารการเพาะเลี้ยง การตรวจสอบคุณภาพน้ำ และคุณภาพผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ อีกทั้งยังเป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการรุกขยายสู่ตลาดนานาชาติของปลาเก๋ามุกมังกรไต้หวัน
รมว.เฉินฯ กล่าวว่า MOA จะมุ่งผลักดันการประชาสัมพันธ์ส่งออกปลาเก๋ามุกมังกรไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ใน 2 มิติหลัก ดังนี้ : (1) การจัดตั้งระบบห่วงโซ่อุปทานที่มีเสถียรภาพ โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังญี่ปุ่น ที่ได้รับการชี้แนะจากกรมประมง ยกระดับเทคโนโลยีการแปรรูปและการเพาะเลี้ยง ควบคู่ไปกับการวิจัยพัฒนาสินค้าที่สอดรับกับความต้องการของตลาดญี่ปุ่น โดยสถานีวิจัยการประมงจะสวมบทบาทเป็นกองหนุน ในการเฝ้าจับตาต่อการปรับปรุงและรักษาสภาพแวดล้อมการเพาะเลี้ยง เพื่อให้แน่ใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ปลา (2) การสร้างความประทับใจต่อผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผู้บริโภค ด้วยการลงพื้นที่สำรวจและจัดทำสินค้าในบรรจุภัณฑ์ขนาดย่อม เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้ลิ้มลองรสชาติ ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์เมนูปลา ตามสไตล์อาหารจีน ตลอดจนจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นรู้จักและเกิดความชื่นชอบปลาเก๋าไต้หวันเพิ่มมากขึ้น
รมว.เฉินฯ กล่าวปิดท้ายว่า การส่งออกปลาเก๋าในครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการและภาควิชาการ รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยง โรงงานแปรรูป ผู้ประกอบการทางการค้า ผู้ประกอบการนำเข้า ตลอดจนเจ้าหน้าที่ภาครัฐส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ที่ประสานความร่วมมือกันอย่างแนบแน่น ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของไต้หวันให้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการสื่อให้เห็นถึงการประสานความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไต้หวัน เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในประเทศ ก้าวไปสู่ตลาดสากล
นางโจวชุนหมี่ ผู้ว่าการเมืองผิงตง กล่าวว่า เมืองผิงตงเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาเก๋าที่มีขอบเขตกว้างขวางที่สุดในไต้หวัน โดยเนื้อที่การเพาะเลี้ยงปลาเก๋ามุกมังกร อยู่ที่ 268 เฮกตาร์ ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 34 ของทั้งประเทศ มีผลผลิตรวมทั้งสิ้น 7,206 ตัน ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 55 ของทั้งประเทศ สร้างมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรต่อปีกว่า 1,888.051 ล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งสินค้าส่งออกล็อตแรกนี้ ก็คือปลาเก๋ามุกมังกรที่ผ่านการคัดเลือก ภายใต้ “โครงการผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเหรียญทองเมืองผิงตง” ที่จัดโดยเทศบาลเมืองผิงตงในปี 2567 โดยในขั้นตอนของการคัดเลือก ได้รับการพิจารณาตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากผู้เชี่ยวชาญในภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ