
กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 6 ก.พ. 68
เพื่อบรรลุ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD)” และหลักจิตวิญญาณของ“กฎหมายการกีฬาสำหรับประชาชน” และเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ทางนโยบาย “การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกีฬา” เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 กรมการกีฬา ภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้ประกาศเปิดตัว “แนวทางส่งเสริมกีฬาสำหรับผู้พิการ” อย่างเป็นทางการ โดยนายหงจื้อชาง รองอธิบดีกรมการกีฬา คาดหวังที่จะให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานเจ้าภาพ ในการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมการแข่งขันกีฬาที่เป็นมิตรต่อกลุ่มผู้พิการ เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายมีสิทธิในการเข้าร่วมอย่างเท่าเทียม พร้อมใช้เป็นเครื่องมือประเมินมาตรฐานการแข่งขันที่เป็นมิตรต่อผู้พิการ เพื่อให้ทุกคนสามารถแสดงศักยภาพของตนในสนามกีฬาได้อย่างเต็มที่
“แนวทางส่งเสริมกีฬาสำหรับผู้พิการ” บูรณาการประสบการณ์ความเชี่ยวชาญและกรณีตัวอย่างจากทั้งในและต่างประเทศ และมุ่งมั่นยกระดับศักยภาพและคุณภาพการให้บริการในการแข่งขันกีฬาในประเภทต่างๆ ควบคู่ไปกับการยื่นเสนอข้อชี้แนะเกี่ยวกับกฎกติกาการแข่งขันที่เหมาะสมตลอดช่วงการแข่งขัน ตั้งแต่การจองสนามแข่งขันที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับกลุ่มผู้พิการ การวางแผนเส้นทางคมนาคม การให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์เสริม ไปจนถึงรายละเอียดการแข่งขัน เพื่อใช้เป็นหลักอ้างอิงในการดำเนินการบริหารที่ครอบคลุม และเปิดโอกาสให้ผู้พิการเข้ามีส่วนร่วม อีกทั้งยังถือเป็นการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมการกีฬาที่เป็นมิตร และสอดรับต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ แนวทางข้างต้นยังได้ยื่นเสนอข้อชี้แนะเกี่ยวกับรูปแบบการวางแผนเตรียมการที่เป็นมิตร และแบบฟอร์มการตรวจสอบประเมิน ในการแข่งขันทั้ง 3 รายการ อาทิ การวิ่งมาราธอน การแข่งขันจักรยานและว่ายน้ำ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเจ้าภาพ ในการพัฒนารายละเอียดการให้บริการ เพื่อส่งเสริมให้การออกกำลังกายกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของประชาชน
ดร.เจียงอี้ชุน ศาสตราจารย์คณะครุศาสตร์ สาขาการศึกษาพิเศษ (Department of Special Education) ผู้ซึ่งเป็นบรรณาธิการจัดเรียบเรียง “แนวทางส่งเสริมกีฬาสำหรับผู้พิการ” กล่าวว่า การประกาศเปิดตัวแนวทางฯ ในครั้งนี้ เป็นการผสมผสานระหว่างแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ องค์การและผู้ที่ชื่นชอบในการกีฬา เข้ามีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น เพื่อบรรลุเป้าหมายว่าด้วย “การขจัดความไม่เท่าเทียม” และ “การส่งเสริมสันติภาพและความยุติธรรม” ที่ระบุไว้ใน SDGs
ไต้หวันได้ก้าวเข้าสู่สังคมความเสมอภาคทางเพศทางการกีฬาแล้ว หลายปีมานี้ หน่วยงานเจ้าภาพการแข่งขันนานาชาติ ต่างพากันสอบถามเกี่ยวกับข้อควรระวังและรายละเอียดของการส่งเสริมนักกีฬาที่เป็นคนพิการจากกรมการกีฬา โดยกรมการกีฬาแถลงว่า เพื่อขยายขอบเขต และสร้างหลักประกันให้หน่วยงานเจ้าภาพที่มีเจตนารมณ์เดียวกัน ส่งมอบกลไกการบริการที่เหมาะสม จึงได้ทำการเรียบเรียงแนวทางข้างต้น เพื่อการประชาสัมพันธ์ ให้ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ด้านล่างนี้ : https://www.sa.gov.tw/PageContent?n=8725 หรือ https://www.facebook.com/groups/DisabilitySportsTaiwan/
รองอธิบดีหงฯ ยังย้ำว่า การเผยแพร่แนวทางฉบับนี้ไม่เพียงแต่ตอกย้ำความสำคัญของความเสมอภาคทางกีฬา แต่ยังสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (IPC) ที่มุ่ง "สร้างสังคมแห่งการอยู่ร่วมกันผ่านกีฬาพาราลิมปิก" และสอดรับกับแนวคิดของ สหพันธ์กีฬาคนหูหนวกนานาชาติ (ICSD) ที่สนับสนุน "การต่อสู้เพื่อความเสมอภาคผ่านกีฬา" ปี 2568 จะเป็นก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนากีฬาในไต้หวัน ตามวิสัยทัศน์ของ Special Olympics ที่ว่า "เปลี่ยนแปลงโลกผ่านกีฬา" หวังว่าการแข่งขันต่างๆ จะมีการจัดกลุ่มพิเศษหรือเพิ่มบริการที่เป็นมิตร เพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้พิการในการเข้าร่วมกีฬา และมุ่งสู่เป้าหมายแห่งความเสมอภาคด้านการกีฬาสำหรับทุกคน