
กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 10 ก.พ. 68
“โครงการสมาร์ทเนชั่น ปี 2564 - 2568” ที่บริหารงานโดยกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน (Ministry of Education, MOE) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการบ่มเพาะบุคลากรการศึกษาที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่ไปกับการพัฒนาการศึกษาในยุคดิจิทัล จึงได้มีการจัดโครงการบ่มเพาะการเรียนรู้เชิงดิจิทัล ครั้งที่ 2 ขึ้นในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีนายอู๋อิ่งเถียน อธิบดีกรมการศึกษาสารสนเทศและเทคโนโลยี ภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการของไต้หวัน เจ้าหน้าที่สำนักงานส่งเสริมโครงการบ่มเพาะการเรียนรู้เชิงดิจิทัลของโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษา ตัวแทนเทศบาลในพื้นที่ต่างๆ และสถานศึกษาที่ลงทะเบียนในโครงการ รวม 56 แห่ง เข้าร่วมเปิดตัว “โครงการบ่มเพาะการเรียนรู้เชิงดิจิทัลในโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษา ประจำปี 2568” ที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “แสงแห่งการเรียนรู้ เพื่อเติบโตไปด้วยกัน” ซึ่งสื่อให้เห็นถึงการหยั่งรากทางการศึกษาและพลังแห่งการเติบโต โดยใช้ต้นไม้แห่งการเรียนรู้ เป็นภาพทัศนศิลป์หลัก ซึ่งในระหว่างการจุดไฟประดับนั้น นอกจากจะเป็นการสื่อนัยยะแห่งความหวังและการสืบสานภูมิปัญญาทางความรู้แล้ว ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของโครงการที่มีต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม
เพื่อสืบสานการผสมผสานแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ ให้สอดรับต่อนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและพลังงานสีเขียว MOE จึงได้บูรณาการหลักสูตรสหวิทยาการ ควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่ ในการชี้แนะให้เหล่าเยาวชน แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ด้วยมุมมองระหว่างประเทศในทิศทางแห่งความยั่งยืน พร้อมนำเทคโนโลยีเกิดใหม่เข้าสู่หลักสูตรการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นพื้นฐาน (Problem-based Learning, PBL) เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนมีตรรกะทางความคิดที่เหนือขึ้นในอีกระดับหนึ่ง และเพรียบพร้อมไปด้วยศักยภาพการบูรณาการแบบสหวิทยาการและการปฏิบัติจริง
อธิบดีอู๋ฯ กล่าวว่า MOE มุ่งผลักดัน “โครงการบ่มเพาะการเรียนรู้เชิงดิจิทัล” มาตั้งแต่ปี 2561 จวบจนปี 2567 มีหลักสูตรที่ได้รับการวิจัยและพัฒนา รวม 199 รายการ มีครูอาจารย์และนักเรียนที่เข้าร่วมหลักสูตรแล้วเป็นจำนวน 30,000 กว่าคน อีกทั้งยังมีการจัดตั้งช่องทางการแลกเปลี่ยนและกลไกความร่วมมือกับครูอาจารย์และนักเรียนในระดับนานาชาติ แล้วกว่า 6,000 คนจาก 19 ประเทศทั่วโลก เชื่อว่า บรรดาเยาวชนจะสามารถนำเทคโนโลยีเกิดใหม่มาผสมผสานเข้ากับความรู้ทางทฤษฎี เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาที่พบเห็นในวิถีชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ซึ่งบังเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์เป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีสถานศึกษา 12 แห่งถูกคัดเลือกให้ได้รับรางวัลการเรียนการสอนยอดเยี่ยม และมีอาจารย์ที่ได้รับรางวัล National Excellent Teacher Award อีกจำนวน 10 ราย
เพื่อสานต่อความสำเร็จจากช่วงก่อนหน้า MOE ยังคงเดินหน้าพัฒนาและปรับปรุงเนื้อหาโครงการในปี 2568 โดยในปีนี้ได้ให้การสนับสนุนแก่ 56 โรงเรียน ในการดำเนินโครงการ ซึ่งมีโรงเรียนจาก 13 เมืองเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังมี 8 โรงเรียนในกลุ่มนานาชาติ ที่จะจัดหลักสูตรแลกเปลี่ยนออนไลน์กับโรงเรียนในต่างประเทศเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ข้ามพรมแดนและพัฒนาทักษะระดับสากลของนักเรียน
กระทรวงศึกษาธิการหวังว่า การผลักดันโครงการนี้จะช่วยจุดประกายของพลังแห่งนวัตกรรมและการเรียนรู้เชิงสำรวจให้กับนักเรียน เพราะสิ่งที่โครงการ “การเรียนรู้เชิงลึก” กำลังจุดขึ้นนั้น ไม่ใช่เพียงแค่แสงสว่างทางการศึกษา แต่ยังเป็นคำมั่นสัญญาที่มีต่ออนาคตอันยั่งยืน ด้วยการผสานมุมมองระดับนานาชาติเข้ากับการลงมือปฏิบัติในระดับท้องถิ่น เพื่อบ่มเพาะพลเมืองแห่งอนาคต ที่พร้อมจะก้าวสู่เวทีโลกและมีจิตสำนึกด้านความยั่งยืนต่อไป