
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 14 ก.พ. 68
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติระดับสูง พร้อมทั้งจัดงานแถลงข่าวหลังเสร็จสิ้นการประชุมต่อในทันที
สาระสำคัญของคำกล่าวของปธน.ไล่ฯ มีดังนี้ :
ในสถานการณ์โลกของปัจจุบัน พันธมิตรแห่งประชาธิปไตยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่เกิดจากการผนึกกำลังของกลุ่มประเทศลัทธิอำนาจนิยม และการทุ่มตลาดของจีนเนื่องจากกำลังการผลิตส่วนเกิน รวมถึงการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งกำลังสร้างความเสียหายต่อระเบียบเศรษฐกิจโลก เมื่อเริ่มต้นปีใหม่ หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐอเมริกา เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายทั้งจากภายในและภายนอก รัฐบาลสหรัฐฯ ได้นำกลยุทธ์และนโยบายที่แตกต่างจากในอดีตมาใช้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงไต้หวัน กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายแบบใหม่ไปพร้อมกัน
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ วิธีการรักษาความมั่นคงของประเทศ การทำให้ไต้หวันยังคงมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก และการสร้างความก้าวหน้าให้กับประเทศท่ามกลางความท้าทาย ถือเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของไต้หวันในปีนี้ และเป็นเหตุผลหลักที่เราจัดการประชุมระดับสูงด้านความมั่นคงแห่งชาติในครั้งนี้
ในการประชุมวันนี้ ข้าพเจ้า พร้อมด้วยคณะทำงานด้านความมั่นคงแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีจั๋วหรงไท่ ที่นำทีมบริหาร ได้ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์โดยรวมทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงกลยุทธ์รับมือที่ทีมงานได้วางแผนล่วงหน้า โดยมีการอภิปรายอย่างลึกซึ้ง
ในแง่ของความมั่นคงของชาติ ซึ่งต้องเผชิญกับภัยคุกคามทุกรูปแบบจากกลุ่มเผด็จการ ไต้หวันจำเป็นต้องยืนหยัดปกป้องอธิปไตยของตัวเอง เสริมสร้างความมุ่งมั่นในการป้องกันตนเอง และพัฒนากองทัพให้แข็งแกร่งขึ้น นอกจากนี้ ไต้หวันต้องเพิ่มความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ รักษาความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ และยืนหยัดร่วมกับประเทศประชาธิปไตยในการกระชับความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์กับประเทศที่มีแนวความคิดใกล้เคียงกัน
ด้วยเหตุนี้ ตลอดปีศักราชใหม่นี้ พวกเราจึงจะทำการผลักดันภารกิจใน 3 มิติหลัก ดังต่อไปนี้ :
ประการแรก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องประเทศชาติ พวกเราจะมุ่งผลักดันการปฏิรูปทางกลาโหม ควบคู่ไปกับการสร้างความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม ด้วยการจัดสรรงบประมาณพิเศษ เพื่อยกระดับให้งบประมาณทางกลาโหม สามารถบรรลุเป้าหมายที่ร้อยละ 3 ของ GDP
ประการที่สอง เพื่อป้องกันการถูกโจมตี การแทรกซึมและสงครามจิตวิทยาจากจีน ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ พวกเราจะมุ่งผลักดันการปฏิรูประบบกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ และขยายการจัดตั้งเครือข่ายความมั่นคงระดับประเทศ เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่ภาคประชาสังคม ตลอดจนเป็นการสร้างความสามัคคีภายในไต้หวัน ให้เกิดความกลมเกลียวยิ่งขึ้น
ประการสุดท้าย เพื่อจับทิศทางการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานระดับสากล และโอกาสที่เกิดจากการจัดตั้งกลไกความสงบเรียบร้อยทางเศรษฐกิจ พวกเราจะผลักดันกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ตามหลักการ “การวางรากฐานที่มั่นคงในไต้หวัน เพื่อแผ่ขยายไปสู่ประชาคมโลก” ควบคู่ไปกับการจัดตั้งมาตรการคุ้มครองเทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนประสานความร่วมมือกับกลุ่มมิตรประเทศ สร้างระบบห่วงโซ่อุปทานด้านประชาธิปไตยระดับโลก
ในลำดับต่อไป ปธน.ไล่ฯ ยังได้ยื่นเสนอแผนแม่บทที่แน่ชัดใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ : ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน
ประการแรก ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ
ไต้หวันและสหรัฐฯ ต่างก็มีแนวคิดและค่านิยมที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้งยังเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งในกลุ่มพันธมิตรแห่งประชาธิปไตยของโลก ปธน.ไล่ฯ จึงใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อความสนับสนุนที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ มีต่อไต้หวันอย่างหนักแน่น นับตั้งแต่ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นต้นมา โดยเฉพาะแถลงการณ์ร่วมผู้นำสหรัฐฯ - ญี่ปุ่น ที่มีการระบุว่า “การธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน นับว่ามีความสำคัญยิ่ง ถือเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถขาดได้ในด้านความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของประชาคมโลก” พร้อมกันนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังเฝ้าจับตาต่อภัยคุกคามจากจีนที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในระดับภูมิภาคอย่างใกล้ชิด
ในฐานะที่พวกเราตั้งอยู่บนพื้นที่ห่วงโซ่ระยะที่ 1 และอยู่ในแนวหน้าของการรับมือกับประเทศลัทธิอำนาจนิยม ไต้หวันมีความยินดีและพร้อมที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทุกด้านกับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมแสวงหาความสงบเรียบร้อยและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค และบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่จะส่งเสริมให้ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก มุ่งสู่เส้นทางแห่งเสรีภาพและการเปิดกว้าง ในอนาคต แม้ว่าอาจจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย แต่ความเชื่อมั่นและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลไต้หวัน – กรุงวอชิงตัน ดีซี จะดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืน
จากการอ้างอิง “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” และ “หลักประกัน 6 ประการ” ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมานี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนอนุมัติการจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวัน รวมแล้วกว่า 48 รายการ โดยมีมูลค่ารวมสูงถึง 26,265 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เฉพาะในสมัยแรกของการบริหารประเทศโดยปธน.ทรัมป์ ก็มีจำนวน 22 รายการ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 18,763 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคี หลายปีมานี้ การลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ไต้หวันมีต่อสหรัฐฯ ได้รับการยกระดับเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตราบจนปี 2567 มีมูลค่ารวมแล้วกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และสร้างโอกาสงานได้มากถึง 400,000 อัตรา โดยมูลค่าการลงทุนของไต้หวันต่อสหรัฐฯ ในช่วงระหว่างปี 2566 – 2567 ครองสัดส่วนการลงทุนระหว่างประเทศของไต้หวันมากกว่าร้อยละ 40 ด้วย
ขณะนี้ รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการวางแผนงานที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างอิงจากความต้องการด้านการพัฒนาประเทศ และการจัดตั้งระบบห่วงโซ่อุปทานด้านความมั่นคง โดยสภาบริหารจะทำการประเมินและรวบรวมโอกาสความร่วมมือทางการค้าระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ โดยในอนาคต ไต้หวันจะขยายขอบเขตการลงทุนและการจัดซื้อจากสหรัฐฯ ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างกันต่อไป เพื่อส่งเสริมความสมดุลทางการค้าแบบทวิภาคี พร้อมกันนี้ พวกเราจะยังคงมุ่งสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยี AI การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ที่ล้ำสมัย รวมไปถึงด้านการผลิต ตลอดจนร่วมรักษากลไกตลาดเซมิคอนดักเตอร์ ให้ดำเนินไปสู่ทิศทางที่ยั่งยืนต่อไป
ประการที่สอง การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ปธน.ไล่ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันมีบทบาทในฐานะที่เป็นอาณาจักรแห่งเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเปี่ยมด้วยศักยภาพในระดับสากล พวกเรามีความสามารถและยินดีที่จะรับมือกับสถานการณ์ล่าสุดอย่างเต็มกำลัง
นอกจากการช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรับมือกับความท้าทายในสถานการณ์ล่าสุดแล้ว พวกเรายังจะยื่นเสนอ “แผนริเริ่มว่าด้วยหุ้นส่วนระบบห่วงโซ่อุปทานด้านเซมิคอนดักเตอร์แห่งประชาธิปไตย” โดยพวกเรายินดีที่จะจัดตั้งระบบห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ที่มีความยืดหยุ่นและหลากหลาย พร้อมทั้งประยุกต์ใช้ข้อได้เปรียบทางเซมิคอนดักเตอร์ที่ล้ำสมัย จัดตั้งสมาพันธ์อุตสาหกรรมห่วงโซ่อุตสาหกรรมแผ่นชิป AI ระดับสากล และระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมแผ่นชิปขั้นสูง ในกลุ่มประเทศประชาธิปไตย เพื่อเปิดบริบทใหม่แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรม ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไป
ประการสุดท้าย ว่าด้วยความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน
ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ - จีน รวมไปถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์แบบพหุภาคี ระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ และจีน ถือเป็นประเด็นที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญเสมอมา ในการเผชิญหน้ากับจีน ไต้หวันยืนหยัดในจุดที่แสดงความรับผิดชอบเสมอ เราไม่ยอมอ่อนข้อ แต่ก็ไม่แข็งกร้าวจนเกินไป โดยยังคงยึดมั่นในจุดยืนที่แน่วแน่ในความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันว่า:
ความตั้งใจในการปกป้องอำนาจอธิปไตย และการรักษารูปแบบวิถีชีวิตที่เปี่ยมด้วยประชาธิปไตยและเสรีภาพ จะมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง
ความมุ่งมั่นในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวัน และความตั้งใจในการร่วมแสวงหาสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองกับจีน จะมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง
เรายึดมั่นในหลักการความเสมอภาคและเคารพซึ่งกันและกัน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันอย่างสร้างสรรค์และเป็นระเบียบ ยึดแนวทางการเจรจาแทนการเผชิญหน้า และมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในคำมั่นสัญญา