ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมช.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สื่อยูเครน ย้ำ ประชาคมโลกควรเปิดรับไต้หวัน เพื่อเสถียรภาพของระบบห่วงโซ่อุปทานและเครือข่ายความมั่นคงระดับโลก
2025-02-18
New Southbound Policy。รมช.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สื่อยูเครน ย้ำ ประชาคมโลกควรเปิดรับไต้หวัน เพื่อเสถียรภาพของระบบห่วงโซ่อุปทานและเครือข่ายความมั่นคงระดับโลก (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมช.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สื่อยูเครน ย้ำ ประชาคมโลกควรเปิดรับไต้หวัน เพื่อเสถียรภาพของระบบห่วงโซ่อุปทานและเครือข่ายความมั่นคงระดับโลก (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 17 ก.พ. 68
 
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 นายอู๋จื้อจง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Tim Mak บรรณาธิการอำนวยการนิตยสาร Counteroffensive ของยูเครน โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ถูกตีพิมพ์ในหัวข้อ “ล้วงลึก: ไต้หวันเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีทางทหาร เพื่อลดการพึ่งพาชิ้นส่วนจากจีน” (DEEP DIVE: Taiwan miltech aims to undermine Chinese components) ซึ่งอยู่ในหมวด Counteroffensive Pro และได้รับความสนใจจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมทั่วโลก ที่เฝ้าจับตาต่อประเด็นความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน
 
เนื้อหาบทสัมภาษณ์ เริ่มต้นด้วยการอ้างอิงสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่ระบุไว้ว่า “เราจะมุ่งส่งเสริมให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางแห่งเอเชียในระบบห่วงโซ่อุปทานด้านอากาศยานไร้คนขับแห่งประชาธิปไตย” พร้อมทั้งมีการเน้นย้ำว่า ไต้หวันได้รับข้อคิดที่สำคัญมากมายจากสงครามรัสเซีย – ยูเครน ซึ่งขณะนี้ พวกเราอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก ในราคาย่อมเยา ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตัวช่วยที่จะถูกนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ความขัดแย้งระดับสากลในภายภาคหน้า นอกจากนี้ สงครามรัสเซีย – ยูเครน ยังเป็นการกระตุ้นให้พันธมิตรแห่งประชาธิปไตยทั่วโลก ตระหนักถึงวิกฤตที่เกิดจาก “ระบบห่วงโซ่อุปทานสีแดง” (Red Supply Chain) ไต้หวันในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ จึงได้กลายมาเป็นตัวเลือกทดแทนที่สำคัญ
 
นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุถึงสาระสำคัญจากคำปราศรัยของ รมช.อู๋ฯ ที่ชี้ว่า ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ประชาคมโลกต่างเห็นตรงกันว่า การเปิดโอกาสให้จีนและรัสเซียเข้าสู่องค์การการค้าโลก จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกระบวนการทางประชาธิปไตย แต่ข้อเท็จจริงที่เห็นได้จากสถานการณ์การบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย แสดงให้เห็นแล้วว่า “พวกเราไร้เดียงสาเกินไป ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ประชาคมโลกควรที่จะประยุกต์ใช้กลยุทธ์ที่ถูกต้องเข้ารับมือ ซึ่งก็คือการแบ่งแยกระหว่าง “ระบบห่วงโซ่อุปทานสีแดง” และ “ระบบห่วงโซ่อุปทานแห่งประชาธิปไตย” โดยรมช.อู๋ฯ ย้ำด้วยว่า แนวทางเช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะมีส่วนเกี่ยวพันกับความมั่นคงของระบบห่วงโซ่อุปทานเท่านั้น แต่ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงสร้างความมั่นคงในภาพรวมของพันธมิตรแห่งประชาธิปไตยอีกด้วย
 
รมช.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันคาดหวังที่จะมีบทบาทสำคัญในกลไกความสงบเรียบร้อยรูปแบบใหม่ในระดับสากล พร้อมทั้งยังหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะสร้างหลักประกันว่า เทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน จะไม่ถูกแพร่งพรายเข้าสู่รัสเซียหรือกลุ่มประเทศลัทธิอำนาจนิยมอื่นๆ ผ่านการปรับโครงสร้างระบบห่วงโซ่อุปทาน ขณะเดียวกัน พวกเราจะยังคงมุ่งเสริมสร้างเทคโนโลยีกลาโหม อย่างกระตือรือร้น เพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้วยวิธีการข่มขู่ทางกำลังทหารจากจีนต่อไป
 
รมช.อู๋ฯ กล่าวว่า ความท้าทายที่ไต้หวันต้องเผชิญในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีกลาโหม ก็คือการที่หลายประเทศยังมิได้มองว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่มีความเท่าเทียม ส่งผลให้การพัฒนาทางอุตสาหกรรมและความร่วมมือระหว่างประเทศของไต้หวัน ถูกตีกรอบจำกัดไว้ อย่างไรก็ตาม ไต้หวันมีบุคลากรและความรู้ความเชี่ยวชาญที่ครอบคลุม อีกทั้งยังมุ่งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐของต่างประเทศผ่านช่องทางต่างๆ อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งรูปแบบความร่วมมือที่มีความยืดหยุ่นเช่นนี้ ส่งผลให้ไต้หวันมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในด้านการทำสงครามแบบอสมมาตรและเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ
 
ทั้งนี้ เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ ต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาชาติเข้าช่วยเป็นอย่างมาก รมช.อู๋ฯ จึงขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกตระหนักถึงการคงอยู่ของไต้หวัน ด้วยการผลักดันให้ไต้หวันเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายความมั่นคงระดับสากล และลดทอนข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยนข้อมูล จึงจะสามารถเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึกกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อการธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาคและระดับโลก ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
 

ข่าวยอดนิยม