ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมช.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ Challenges นิตยสารรายสัปดาห์ของฝรั่งเศส เน้นย้ำความมุ่งมั่นของไต้หวันในการปกป้องระบอบประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างค่านิยมด้านการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง
2025-02-20
New Southbound Policy。รมช.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ Challenges นิตยสารรายสัปดาห์ของฝรั่งเศส เน้นย้ำความมุ่งมั่นของไต้หวันในการปกป้องระบอบประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างค่านิยมด้านการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมช.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ Challenges นิตยสารรายสัปดาห์ของฝรั่งเศส เน้นย้ำความมุ่งมั่นของไต้หวันในการปกป้องระบอบประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างค่านิยมด้านการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 19 ก.พ. 68
 
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 นายอู๋จื้อจง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Régis Soubrouillard ผู้สื่อข่าวนิตยสารรายสัปดาห์ Challenges ของฝรั่งเศส ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้รับการตีพิมพ์ลงในคอลัมน์พิเศษ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ภายใต้หัวข้อ “การปรับกลยุทธ์ทางการทูตของไต้หวันเพื่อรับมือกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ปักกิ่งและยุโรป” ซึ่งได้รับความสนใจในวงกว้างจากบรรดาผู้อ่านในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส
 
เริ่มต้น รมช.อู๋ฯ ชี้แจงว่า แม้ว่าไต้หวันจะไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับหลายประเทศทั่วโลก แต่พวกเรามุ่งขยายขอบเขตความสัมพันธ์ทางความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมกับนานาประเทศอย่างกระตือรือร้น สร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และจัดตั้งกลไก “การดำเนินงานรูปแบบราชการ” (working official) ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนอย่างเป็นรูปธรรม อาจจะไม่มีส่วนเกี่ยวพันกับการยอมรับทางการทูต แต่ตั้งมั่นอยู่บนรากฐานของผลประโยชน์ร่วมกันในเชิงค่านิยมด้านประชาธิปไตย ความร่วมมือทางเทคโนโลยี การค้าและนวัตกรรม เป็นต้น
 
ในแง่มุมของความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ รมช.อู๋ฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักของไต้หวันในประชาคมโลก อันจะเห็นได้จากการอนุมัติจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวัน การแลกเปลี่ยนระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับอาวุโส และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า ที่จะยังคงได้รับการสืบสานให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน โดยสหรัฐฯ กำหนดให้ไต้หวันเข้าสู่กรอบโครงสร้างเชิงกลยุทธ์ที่กว้างขวางเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างหลักประกันมิให้กลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ถูกคุกคามจากความทะเยอทะยานของจีน นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมการอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทาน ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านเซมิคอนดักเตอร์
 
รมช.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สหรัฐฯ จะสวมบทบาทผู้นำสำคัญในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์ความตึงเครียดของช่องแคบไต้หวันทวีความรุนแรงขึ้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ หวังว่าพันธมิตรแห่งประชาธิปไตยจะเพิ่มงบประมาณกลาโหมให้สูงขึ้น ซึ่งไต้หวันก็ได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไต้หวันแตกต่างจากยูเครนและอิสราเอล เนื่องจากไต้หวันขอซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ โดยไม่ได้พึ่งพาความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรง แม้งบประมาณกลาโหมของไต้หวันจะถูกแช่แข็งโดยสภานิติบัญญัติ แต่ความมุ่งมั่นในการปกป้องระบอบประชาธิปไตยของประชาชนชาวไต้หวัน จะยังคงเดิมไม่แปรเปลี่ยน โดยรัฐบาลจะแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชน และสภานิติบัญญัติอย่างกระตือรือร้นต่อไป ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้วยกำลังอาวุธจากจีน
 
สำหรับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทะกันทางทหารในช่องแคบไต้หวัน รมช.อู๋ฯ กล่าวว่า ไต้หวันเผชิญกับภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ จากจีน อย่างมีสติ ทั้งในแง่ของการทหาร การทูต เศรษฐกิจและสื่อโซเชียล ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเสริมสร้างความทรหด และแนวทางการรับมือกับภัยคุกคาม รมช.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า หากจีนรุกรานไต้หวันจะต้องประสบความเสียหายอย่างรุนแรง เนื่องจากความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน จะส่งผลกระทบต่อประชาคมโลก ซึ่งรวมถึงในด้านเศรษฐกิจด้วย
 
เมื่อเผชิญกับภัยคุกคามจากรัฐบาลปักกิ่ง รมช.อู๋ฯ ชี้แจงว่า แนวทางการรับมือของไต้หวันในปัจจุบันคือ การประยุกต์ใช้มาตรการ “Not Today” โดยหวังที่จะทำให้จีนตระหนักว่า “วันนี้มิใช่วันที่จะบุกไต้หวัน” ซึ่งมาตรการดังกล่าวประกอบไปด้วย 3 มิติหลัก ได้แก่ การเสริมสร้างกลาโหม การเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศพันธมิตร และการส่งเสริมการสนับสนุนจากประชาคมโลก โดยงบประมาณกลาโหมของไต้หวันขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 80 ภายในระยะเวลา 8 ปี และการขยายระยะเวลาเข้ารับราชการทหารกองประจำการเป็น 1 ปี ซึ่งล้วนเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแบกรับหน้าที่ความรับผิดชอบการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองของไต้หวัน ประกอบกับพลังเสียงสนับสนุนที่พันธมิตรแห่งประชาธิปไตยส่งมอบให้ไต้หวัน ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน หลายปีมานี้ ประเทศที่มีความสำคัญระดับโลกแสดงจุดยืนให้การสนับสนุนไต้หวัน ด้วยการจัดส่งเรือรบแล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน นอกจากนี้ กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ก็มุ่งให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ อย่างกระตือรือร้นเช่นเดียวกัน
 
ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ยุโรป รมช.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า สหภาพยุโรป (EU) ตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีน ด้วยเหตุนี้ จึงได้ประกาศใช้มาตรการที่แข็งกร้าวต่อจีน และมุ่งให้การสนับสนุนต่อไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะเผชิญกับแรงกดดันจากจีน แต่ถึงกระนั้น ลิทัวเนีย เช็กและสโลวาเกีย ต่างยังคงกระชับความสัมพันธ์กับไต้หวันอย่างเปิดเผย อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เป็นสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ของไต้หวัน เนื่องจากอุปทานผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ ร้อยละ 60 และชิปขั้นสูงมากกว่าร้อยละ 90 ถูกผลิตขึ้นในไต้หวัน ในระหว่างที่ประเทศในทวีปยุโรปกำลังมุ่งแสวงหาการสร้างหลักประกันด้านห่วงโซ่อุปทาน ไต้หวันก็กำลังอยู่ระหว่างเตรียมเพิ่มการลงทุนในทวีปยุโรป ควบคู่ไปกับการเปิดการเสวนากับเยอรมนี เช็ก ลิทัวเนียและฝรั่งเศส เพื่อส่งเสริมให้เทคโนโลยีของไต้หวัน ได้รับการบูรณาการเข้าสู่ระบบนิเวศอุตสาหกรรมยุโรป ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงร่วมกัน ระหว่างไต้หวัน – ยุโรป ซึ่งขณะนี้ ไต้หวัน – ฝรั่งเศส ต่างร่วมแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือกันอย่างกระตือรือร้น ทั้งในด้านเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เป็นต้น