
กระทรวงสิ่งแวดล้อม วันที่ 26 ก.พ. 68
ความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและมลพิษทางอากาศ นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น กระทรวงสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environment, MOENV) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้จัดการประชุมในหัวข้อ “AIR 2025 : นวัตกรรมเทคโนโลยีอากาศปลอดมลพิษอย่างยั่งยืนในเมืองอัจฉริยะ” ระหว่างวันที่ 24 – 25 กุมภาพันธ์ 2568 โดยการประชุมที่เป็นการรวมตัวระหว่างผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากทั้งในและต่างประเทศในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างพลังใหม่ให้กับนโยบายคุณภาพอากาศของไต้หวัน แต่ยังได้ร่างแนวทางสำหรับสมุดปกขาวด้านนโยบายคุณภาพอากาศแห่งอนาคต และวางรากฐานที่มั่นคงเพื่อความยั่งยืนต่อไป
นายเฉินจื้อซิว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมไต้หวัน กล่าวปิดท้ายการประชุมว่า “ขอขอบคุณการเข้าร่วมและการเสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์ขององค์กรเอกชน พวกเราตระหนักดีว่า การผสานนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ากับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมถึงการใช้ AI และเครือข่ายอัจฉริยะ จะช่วยผลักดันการบริหารจัดการคุณภาพอากาศในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายในสิ้นเดือนมีนาคม MOENV จะนำเสนอ สมุดปกขาวด้านนโยบายคุณภาพอากาศฉบับใหม่ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญในการกำหนด แผนป้องกันมลพิษทางอากาศระยะที่สาม นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงการจัดตั้ง ศูนย์ปัญญาประดิษฐ์และการบริหารจัดการข้อมูล รวมถึง ศูนย์ตรวจสอบและพยากรณ์คุณภาพอากาศ ซึ่ง รมว.สิ่งแวดล้อมได้กล่าวถึงในพิธีเปิด สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความคาดหวังในระดับสูงของ MOENV ในการปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต
วันแรกของการประชุม มุ่งเน้นไปที่การแบ่งปันประสบการณ์ในระดับนานาชาติ ซึ่งได้มีการเปิดอภิปรายในประเด็นกระแสนโยบายและเทคโนโลยีล่าสุดเกี่ยวกับการบริหารคุณภาพอากาศ พร้อมทั้งแสวงหาแนวคิดใหม่ๆ ภายใต้วิสัยทัศน์ระดับสากล โดยในวันถัดไป หัวข้อการอภิปรายมุ่งเน้นไปที่ความท้าทายภายในประเทศ ซึ่งจะเริ่มต้นจากการรวบรวมความคิดเห็นของภาคประชาชน ที่จัดขึ้นในแคมเปญ ภายใต้ชื่อ “บ่ออธิษฐานคุณภาพอากาศ” และ “แหล่งรวมเสียงพลเมือง” โดยได้กำหนดแนวทางของแผนปฏิบัติการไว้ ดังนี้ :
การบริหารคุณภาพอากาศ
1.พัฒนาตัวชี้วัดการปรับปรุงคุณภาพอากาศที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
2. ส่งเสริมการตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ ภายในพื้นที่อาคารสาธารณะ และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสถานที่ที่กลุ่มเสี่ยงเข้าใช้บริการเป็นประจำ
3. ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการยกระดับสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายคุณภาพอากาศ
4. พัฒนากลไกการแจ้งเตือนล่วงหน้าทุกชั่วโมง ควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพอากาศ ด้วยการจัดตั้งแผนที่วิเคราะห์คุณภาพอากาศ
การบริหารจัดการมลพิษอากาศที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม
1.เสริมสร้างระบบการตรวจสอบสิ่งแวดล้อม และทำความเข้าใจกับคุณลักษณะของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละพื้นที่ พร้อมติดตั้งเครื่องตรวจวัดที่สามารถระบุช่วงเวลาและพื้นที่ที่เกิดมลพิษสูงได้อย่างละเอียด
2. ประเมินความเสี่ยงของการสัมผัสสารมลพิษ วิเคราะห์แหล่งกำเนิดมลพิษและระดับการได้รับผลกระทบของประชาชน และเสนอแนวทางลดการปล่อยมลพิษที่มีประสิทธิภาพ
3. รับมือกับปัญหามลพิษจากสาร PFAS (สารเคมีในกลุ่มฟลูออโรคาร์บอนที่ทนทานต่อการย่อยสลาย) โดยพัฒนา "มาตรฐานการตรวจวัด PFAS" เป็นอันดับแรก และศึกษาแหล่งที่อาจปล่อยสาร PFAS ภายในไต้หวัน ก่อนจะวางแนวทางควบคุมและกำกับดูแลสารเคมีเหล่านี้
การบริหารจัดการมลพิษทางอากาศจากภาคการขนส่ง
1. ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าและการจัดการยานพาหนะตามแนวทาง ESG โดยสนับสนุนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มสัดส่วนการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า ใช้กลไก ESG (สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล) เพื่อบริหารจัดการยานพาหนะในองค์กร และเร่งรัดการปลดระวางรถยนต์เก่าที่ก่อมลพิษสูง
2. ปรับปรุงโครงข่ายขนส่งสาธารณะและใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการจราจร เพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ใช้ระบบอัจฉริยะเพื่อตรวจสอบและบริหารจัดการสภาพการจราจร ลดปัญหาการจราจรติดขัดที่ส่งผลให้มลพิษสะสม ลดความเสี่ยงของประชาชนจากการสัมผัสมลพิษ
3. ศึกษาแนวทางของต่างประเทศในการควบคุมมลพิษที่ไม่ได้เกิดจากไอเสียยานพาหนะ และนำมาปรับใช้ในไต้หวัน
การบริหารจัดการมลพิษทางอากาศที่เกิดจากภาคประชาชนและแหล่งกำเนิดที่กระจายตัว
1. ควบคุมและลดผลกระทบของผลิตภัณฑ์เคมีที่ประชาชนใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนำมาตรการควบคุมและแนวทางส่งเสริมการลดมลพิษมาใช้ควบคู่กัน
2. เพิ่มมาตรการควบคุมมลพิษจากร้านอาหาร และส่งเสริมการเซ่นไหว้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3. ปรับปรุงกระบวนการก่อสร้างเพื่อลดมลพิษ โดยนำ "เทคนิคการก่อสร้างที่ลดการปล่อยมลพิษ" มาใช้ พร้อมทั้งกำหนดมาตรฐานการบริหารจัดการอุปกรณ์และเครื่องจักรที่ใช้ในงานก่อสร้าง
4. ส่งเสริมการติดตั้งระบบพลังงานชายฝั่ง เพื่อลดมลพิษจากเรือเดินสมุทร
MOENV แถลงว่า การประชุมในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงเวทีแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการและปฏิบัติการเท่านั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินนโยบายที่เป็นรูปธรรม โดยข้อเสนอแนะจากภาคประชาชนจะได้รับการพิจารณาเชิงลึกและบรรจุไว้ใน สมุดปกขาวด้านนโยบายคุณภาพอากาศฉบับใหม่ พร้อมย้ำว่า การบรรลุเป้าหมายด้านอากาศบริสุทธิ์ไม่ใช่แค่ความฝัน แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของประชาชนทุกคน ซึ่งต้องอาศัยการผสมผสานขององค์ความรู้ระดับสากล ประสบการณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น และ พลังของภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง