กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 27 ก.พ. 68
“Access Now” องค์การนอกภาครัฐระหว่างประเทศ (INGO) มีกำหนดการจัด “การประชุมสิทธิมนุษยชนโลก RightsCon ประจำปี 2568” ขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 24 – 27 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งสามารถดึงดูดผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ จำนวนกว่า 3,000 คนจากแวดวงที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางไซเบอร์ ธรรมาภิบาลด้านอินเทอร์เน็ตและสิทธิมนุษยชนในยุคดิจิทัล รวมไปถึงองค์กรเอกชนและเจ้าหน้าที่ภาครัฐจากนานาประเทศ ให้เดินทางมาเยือนไต้หวัน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและอภิปรายในประเด็นต่างๆ ภายใต้ยุคสมัยการพัฒนาทางดิจิทัล โดยเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2568 Access Now ได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นการขอบคุณแขกผู้มีเกียรติที่มาเข้าร่วม โดยได้ติดต่อเชิญนายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วมกล่าวปราศรัย ซึ่งนายหวงเยี่ยนหนาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล ก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน และร่วมสร้างปฏิสัมพันธ์กับแขกผู้มีเกียรติ จำนวน 130 คน
Mr. Alejandro Mayoral Banõs ประธานคณะกรรมการบริหาร Access Now ขอบคุณสำหรับการสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวัน ที่ส่งเสริมให้การประชุม RightsCon ประจำปี 2568 ได้รับการจัดขึ้นในไต้หวันอย่างราบรื่น ประกอบกับเหล่าบุคคลสำคัญในแวดวงต่างๆ ทั่วโลก ก็สามารถเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมในไต้หวันได้อย่างราบรื่น ภายใต้การให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลไต้หวัน
รมว.หลินฯ กล่าวให้การต้อนรับเหล่าอาคันตุกะที่เดินทางมาเยือนไต้หวันว่า การประชุมครั้งนี้นำเสนอให้เห็นถึงพลังการปฏิรูปที่เป็นคุณสมบัติอันเกิดจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีและดิจิทัล ภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกก้าวเข้าสู่อนาคตแห่งยุคดิจิทัลรอบด้าน เรายิ่งจำเป็นต้องสร้างหลักประกันให้แน่ใจว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยีสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมและสร้างศักดิ์ศรี เสรีภาพและความเท่าเทียมของมวลมนุษยชาติ เป็นต้น
รมว.หลินฯ กล่าวว่า หลายปีมานี้ สถานการณ์การแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการในยุคดิจิทัล นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกิดเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงต่อประชาธิปไตยและการพัฒนาทางสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค ในฐานะที่ไต้หวันตั้งอยู่แนวหน้าในการรับมือกับภัยคุกคามจากประเทศลัทธิอำนาจนิยม พวกเราจะอาศัยประสบการณ์ด้านอินเทอร์เน็ต และการเสริมสร้างความมั่นคงทางไซเบอร์ ที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับหุ้นส่วนนานาชาติอย่างกระตือรือร้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความยืดหยุ่นในโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคที่สำคัญแล้ว ยังเป็นการเดินหน้ากลยุทธ์การทูตไซเบอร์ในเชิงลึกควบคู่ไปด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต ประสิทธิภาพการสกัดกั้นข่าวปลอม และการรักษาสิทธิความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิทัล
นอกจากนี้ รมว.หลินฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ในระดับนานาชาติแล้ว ไต้หวันยังได้ประยุกต์ใช้ศักยภาพทางเทคโนโลยีดิจิทัล กระตุ้นและส่งเสริมนโยบายทางการทูตเชิงบูรณาการ
ภายใต้กระแสเทคโนโลยี AI บล็อกเชนและข้อมูลบิ๊กดาต้า ไต้หวันอาศัยข้อได้เปรียบด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี มุ่งสร้างคุณูปการในการยกระดับกลไกธรรมาภิบาลในยุคดิจิทัล การรู้เท่าทันสื่อดิจิทัลและสุขภาพดิจิทัล นอกจากนี้ ยังได้ทำการส่งเสริม “มุ่งใต้ใหม่ในยุคดิจิทัล” ผ่านอุตสาหกรรม ICT และการผลิตรูปแบบอัจฉริยะ ด้วยการขยายโครงข่ายทางเศรษฐกิจและการค้าของไต้หวัน ผ่านทิศทางนโยบายและรูปแบบความร่วมมือที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่การขยายพื้นที่ทางการทูตบนเวทีนานาชาติในภายภาคหน้าต่อไป
นอกจากนี้ รมว.หลินฯ ยังได้ระบุอีกว่า ไต้หวันตั้งอยู่ในที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก นอกจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีแล้ว ยังมีสังคมพลเมืองที่เปี่ยมด้วยความยืดหยุ่น อีกทั้งยังสวมบทบาทสำคัญในความท้าทายระดับสากลในหลากหลายด้าน นับเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของการตั้งสาขาย่อยของ INGO ในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก อย่างไรก็ตาม เพื่อส่งเสริมให้ INGO เข้ามาตั้งรากฐานในไต้หวันกันเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลไต้หวันนอกจากจะส่งมอบการสนับสนุนและความช่วยเหลือที่จำเป็นอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังได้วางมาตรการจัดตั้ง “ศูนย์ INGO ในไต้หวัน” ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็นฐานที่ตั้งของ INGO ในภูมิภาค ผ่านกลยุทธ์พฤติกรรมแบบ Herding Behavior หรือการทำตามฝูงชนส่วนใหญ่
ในช่วงท้าย รมว.หลินฯ กล่าวเน้นย้ำว่า ยุคสมัยดิจิทัลเปี่ยมด้วยความท้าทายและความเป็นไปได้ที่ไร้ขีดจำกัด โดยไต้หวันจะยึดมั่นในความตั้งใจและคำมั่นสัญญาว่าด้วยการธำรงรักษาประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน ด้วยการมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือกับทุกแวดวงในนานาชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมสร้างอนาคตแห่งเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความเท่าเทียมและเป็นธรรม
Access Now ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2552 มีสถานะเป็นสมาชิกคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN ECOSOC) และมีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าจับตาต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในยุคดิจิทัล RightsCon เป็นกิจกรรมการประชุมที่ Access Now จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ถือเป็นการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ ที่มุ่งเน้นการอภิปรายในประเด็นสิทธิมนุษยชนในยุคดิจิทัล