ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
TSMC จะขยายเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ โดยจะมุ่งสร้างคุณูปการด้านเทคโนโลยี AI และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ให้แก่คนรุ่นหลัง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของไต้หวันให้เกิดความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
2025-03-07
New Southbound Policy。TSMC จะขยายเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ โดยจะมุ่งสร้างคุณูปการด้านเทคโนโลยี AI และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ให้แก่คนรุ่นหลัง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของไต้หวันให้เกิดความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
TSMC จะขยายเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ โดยจะมุ่งสร้างคุณูปการด้านเทคโนโลยี AI และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ให้แก่คนรุ่นหลัง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของไต้หวันให้เกิดความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดีและสภาบริหาร วันที่ 6 มี.ค. 68
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 6 มีนาคม 2568 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พร้อมด้วยนายเว่ยเจ๋อเจีย ประธานกรรมการบริษัท TSMC ร่วมจัดงานแถลงข่าวต่อกรณีที่ TSMC ได้ประกาศแจ้งในทำเนียบขาวสหรัฐฯ ว่า จะขยายเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง โดยปธน.ไล่ฯ ระบุว่า TSMC จะมุ่งสร้างคุณูปการในด้านเทคโนโลยี AI และการประยุกต์ใช้ทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยอื่นๆ ให้แก่คนรุ่นหลัง ผ่านโครงการอัดฉีดเงินลงทุนในครั้งนี้ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้วิถีชีวิตทางเทคโนโลยีของมวลมนุษยชาติในอนาคต ได้รับการบรรลุให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในไต้หวัน เป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากความมุ่งมั่นของภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากสังคมและประชาชนชาวไต้หวัน
 
การกล่าวปราศรัยของปธน.ไล่ฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้ :

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว การลงทุนของ TSMC ในรัฐแอริโซนาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้สร้างสถิติการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในโครงการ Greenfield ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ เมื่อสองวันที่แล้ว ที่ประธานเว่ยฯ และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ร่วมกันประกาศว่า TSMC จะขยายเพิ่มการลงทุน จึงเป็นประเด็นที่สร้างความสนใจให้แก่ประชาคมโลกไม่น้อย
 
หากมองในแง่มุมการวางรากฐานธุรกิจของ TSMC หรือหากมองจากประวัติความเป็นมาในการพัฒนาอุตสาหกรรมไต้หวันแล้ว พวกเราจะสังเกตเห็นว่า อุตสาหกรรมไต้หวันเริ่มต้นตั้งแต่ “การก้าวเข้าสู่ประเทศซีกโลกตะวันตก” ต่อเนื่องไปสู่ “มุ่งใต้ใหม่” และประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในซีกโลกเหนือ ตลอดจนรุกขยายขอบเขตไปสู่ทวีปอเมริกา โดยในระหว่างที่มีการจัดวางรากฐานอุตสาหกรรมใหม่ๆ นั้น พวกเราก็มุ่งมั่นดำเนินการตามหลักการ “วางรากฐานที่มั่นคงในไต้หวัน เพื่อแผ่ขยายไปสู่ประชาคมโลก และประชาสัมพันธ์สู่เวทีนานาชาติ” เพื่อส่งเสริมให้ศักยภาพของประเทศชาติ ได้รับการพัฒนาให้แข็งแกร่งยิ่งๆ ขึ้นไป
 
ในลำดับต่อไป เป็นการกล่าวปราศรัยของประธานเว่ยฯ ที่ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นที่ TSMC ให้คำมั่นว่าจะเข้าลงทุนในสหรัฐฯ เป็นจำนวนเงินแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประธานเว่ยฯ กล่าวว่า นอกเหนือจากไต้หวันแล้ว การจัดตั้งสายการผลิตในทุกพื้นที่ ล้วนแต่เป็นการตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้า ไม่ว่าจะในญี่ปุ่น เยอรมนีหรือสหรัฐฯ ก็เช่นเดียวกัน การตัดสินใจขยายเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ ครั้งนี้ ก็เนื่องมาจากการที่ปริมาณความต้องการของกลุ่มลูกค้าสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งก่อนทำการตัดสินใจครั้งสำคัญเช่นนี้ พวกเราได้ทำการวิเคราะห์มาอย่างละเอียด พบว่าโครงการการลงทุนแต่เดิมของ TSMC ในสหรัฐฯ ไม่เพียงพอ แม้ว่าจะคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ร่วมด้วย แต่สาเหตุหลักคือการตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้า
 
ประธานเว่ยฯ ระบุว่า ความช่วยเหลือจากรัฐบาลในพื้นที่ ก็เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถขาดได้ อาทิ ผลสัมฤทธิ์ของ TSMC ที่สร้างขึ้นในไต้หวัน แม้ว่าความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจะมีความสำคัญ แต่หากไม่มีรัฐบาล ข้อระเบียบทางกฎหมาย และการสนับสนุนจากประชาคมโลก พวกเขาก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้
 
ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าแล้ว ยังรวมไปถึงต้นทุน บุคลากรในพื้นที่ องค์ประกอบในด้านการประปาและไฟฟ้า เป็นต้น โดย TSMC จะมุ่งประสานความร่วมมือกับรัฐบาลในท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ เพื่อการบ่มเพาะบุคลากรในภายภาคหน้าต่อไป
 
ประธานเว่ยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกาศลงทุนงบประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในสหรัฐฯ สามารถสร้างโรงงาน 3 แห่ง โรงงานบรรจุภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง 2 แห่ง และศูนย์วิจัยและพัฒนาอีก 1 แห่ง ความแตกต่างระหว่างสายการผลิตในแต่ละพื้นที่ทั่วโลกของ TSMC และสายการผลิตของคู่แข่ง อยู่ที่หลังจากที่สายการผลิตของ TSMC ริเริ่มดำเนินการผลิตเทคโนโลยีรายการใดรายการหนึ่งแล้ว ก็จะเกิดการวิจัยพัฒนา และบรรลุความก้าวหน้าด้วยตนเองในรูปแบบอัตโนมัติ ซึ่งเราจะสามารถเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกๆ ปี
 
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2568 นายจั๋วหรงไท่ นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวในที่ประชุมสภาบริหารว่า เงื่อนไขของการวางรากฐานในทุกพื้นที่ทั่วโลกของ TSMC คือ “การหยั่งรากในไต้หวัน” ซึ่งนอกจากจะกำหนดให้ไต้หวันเป็นฐานที่ตั้งของโรงงานผลิตที่ทันสมัย สิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับสากลในไต้หวัน ไต้หวันจึงถือเป็นฐานการผลิตแผ่นชิปด้วยเทคโนโลยีทันสมัยในระดับสากลที่สำคัญที่สุด 
 
นรม.จั๋วฯ ยังระบุว่าอีกว่า ผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เป็นกองหนุนในไต้หวัน ก็มีแผนการที่จะจัดวางทิศทางการพัฒนาในระดับนานาชาติ ซึ่งหนึ่งในรายการหลักของ “โครงการพัฒนาและฟื้นฟูความหลากหลายของผู้ประกอบการ SMEs” คือ “การช่วยแสวงหาช่องทางการจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ” นรม.จั๋วฯ จึงขอกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการในประเทศและผู้ประกอบการระดับนานาชาติ ที่มีแผนการเข้าลงทุนในทั่วทุกพื้นที่ของไต้หวันอย่างกระตือรือร้น นรม.จั๋วฯ จึงได้เรียกร้องให้เทศบาลท้องถิ่นร่วมสำแดงประสิทธิภาพและแสนยานุภาพของประเทศชาติในภาพรวม ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น มุ่งให้ความช่วยเหลือทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้ เพื่อยกระดับให้สถานภาพของไต้หวัน ทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไต้หวันได้รับการมองเห็นจากประชาคมโลกมากขึ้นเท่าใด ไต้หวันก็จะยิ่งมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น