
สภาบริหาร วันที่ 8 มี.ค. 68
วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีตรงกับวันสตรีสากลแห่งชาติ เนื่องในวาระนี้ นางเจิ้งลี่จวิน รองนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวกิจกรรมวันสตรีสากล โดยรองนรม.เจิ้งฯ เน้นย้ำว่า การแสวงหาความเสมอภาคทางเพศ มิใช่การขจัดความแตกต่างทางเพศ แต่คือการมุ่งสู่สังคมที่เป็นประชาธิปไตยเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนสามารถมีอิสรภาพ ไม่ว่าจะอยู่ในเพศสถานะใด อย่างไรก็ตาม เสรีภาพมิใช่การทำลายกรอบจำกัดทางเพศด้วยความมุ่งมั่นพยายามของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่พวกเราจำเป็นต้องร่วมกันมุ่งสร้างสังคมที่เปี่ยมด้วยความเสมอภาคทางเพศอย่างสามัคคี
รองนรม.เจิ้งฯ แถลงว่า หากมองในแง่มุมการผลักดันสิทธิความเสมอภาคทางเพศในประชาคมโลก เราจะเห็นได้ชัดจากกรณีตัวอย่าง อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) ที่มีมติผ่านความเห็นชอบโดยสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2491 “อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ” (The Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination Against Women, CEDAW) แห่งสหประชาชาติในปี 2522 รวมไปถึงการจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยเรื่องสตรี ครั้งที่ 4 (The Fourth World Conference on Women) ในปี 2538 ที่ได้มีการยื่นเสนอ “การบูรณาการเพศภาวะให้เป็นกระแสหลัก” (Gender Mainstreaming) เพื่อเป็นหลักอ้างอิงของแผนกลยุทธ์ระดับสากลในการแสวงหาสิทธิความเสมอภาคของกลุ่มสตรี นอกจากนี้ รองนรม.เจิ้งฯ ยังได้ระบุว่า จากรายงานสถาบันทางสังคมและดัชนีทางเพศ (Social Institutions and Gender Index, SIGI) ปี 2566 ที่จัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ไต้หวันถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 1 ในภูมิภาคเอเชีย
รองนรม.เจิ้งฯ กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ นอกจากจะมองย้อนพิจารณาประวัติศาสตร์แล้ว สิ่งสำคัญคือต้องมองไปสู่ทิศทางอนาคต ในปัจจุบัน ไต้หวันต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายนานับประการ ที่จำเป็นต้องพึ่งพาความมุ่งมั่นพยายามของทุกฝ่าย โดยเฉพาะช่วงหลายปีมานี้ กระแสความเคลื่อนไหว MeToo ส่งผลให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงทางเพศและปัญหาการดูหมิ่น ที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในภาคสังคม จากข้อมูลสถิติที่จัดรวบรวมโดยสำนักงานความเสมอภาคทางเพศ ภายใต้สภาบริหารไต้หวัน พบว่า เหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ มากกว่า 80% เป็นผู้หญิง โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 12 ถึง 18 ปี ซึ่งในขณะเดียวกัน การคุกคามทางเพศออนไลน์ก็ทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
รองนรม.เจิ้งฯ เน้นย้ำว่า รัฐบาลจะเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้ด้วยความสัตย์ซื่อ และพร้อมที่จะจับมือเคียงข้างประชาชน ในปัจจุบัน รัฐบาลได้ทำการแก้ไขร่างกฎหมายความเสมอภาคทางเพศอย่างครอบคลุม รวม 3 รายการ ทั้งนี้ เพื่อต้องการสร้างกลไกการป้องกันการคุกคามทางเพศ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาบริหารยังได้ร่วมลงมติผ่าน “แผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยการปราบปรามความรุนแรงทางเพศ ในช่วงระหว่างปี 2568- 2570” ที่ยื่นเสนอโดยสำนักงานความเสมอภาคทางเพศ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะยกระดับกลไกการป้องกันความรุนแรงทางเพศ ผ่านการป้องกัน การประชาสัมพันธ์ทางการศึกษา การจัดตั้งกลไกการบริการที่ครอบคลุมสำหรับเหยื่อผู้ถูกกระทำ การสร้างสภาพแวดล้อมทางกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตร และการพัฒนาการวิจัยเชิงข้อมูลสถิติ ซึ่งรวมไปถึงการมุ่งผลักดันการศึกษาด้านความเสมอภาคทางเพศอย่างกระตือรือร้น
ขณะเดียวกัน เมื่อเผชิญหน้ากับการคุกคามทางเพศออนไลน์ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจะมุ่งเสริมสร้างฟังก์ชันการวิเคราะห์คดีความที่ฟ้องร้องด้วยหลักฐานคลิปวิดีโอ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างมาตรการการเข้าถึงอย่างรัดกุมและการคุ้มครองพยานหลักฐานอย่างรอบคอบ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดตั้งกลไกการป้องกันความรุนแรงทางเพศอย่างรัดกุม ผ่านมาตรการที่ครอบคลุม ทั้งนี้ เพื่อสรรสร้างสังคมปลอดการคุกคามทางเพศ
นอกจากนี้ รองนรม.เจิ้งฯ ยังกล่าวอีกว่า เพื่อทำลายกรอบจำกัดการแบ่งภาระหน้าที่ตามกรอบแนวคิดดั้งเดิม ส่งเสริมให้การพัฒนาของกลุ่มสตรี ไม่ถูกจำกัดจากผลกระทบการดูแลครอบครัว รัฐบาลจึงได้มุ่งผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มต้นจากการลดบรรเทาภาระในการดูแลบุตรธิดา มุ่งผลักดันมาตรการ “รัฐบาลร่วมด้วยช่วยเลี้ยงบุตร วัย 0-6 ปี” เวอร์ชัน 2.0 นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้ยื่นเสนอแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องว่าด้วยการส่งเสริมให้กลุ่มสตรีวัยกลางคน กลับเข้าสู่สายอาชีพ ซึ่งเมื่อปีที่แล้ว ทางกระทรวงได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายกลับเข้าสู่สายอาชีพ ได้กว่า 68,000 ราย ซึ่งคาดว่า ในช่วงระหว่างปี 2568 – 2571 จะมีกลุ่มเป้าหมายที่กลับเข้าสู่การทำงาน เฉลี่ย 35,000 รายต่อปี
รองนรม.เจิ้งฯ เน้นย้ำว่า ภารกิจการดูแลผู้สูงวัย เวอร์ชัน 3.0 เป็นภารกิจที่สำคัญอย่างมาก โดยคาดว่าจะมีผลการบังคับใช้ในปี 2569 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างการบูรณาการระหว่างการแพทย์และการดูแล การบริการฟื้นฟูดูแลระยะยาว และเพิ่มการดูแลผู้ป่วยระยะกลางและผู้ป่วยหนัก ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ภารกิจการดูแลตลอดช่วงชีวิตมีความครอบคลุมสมบูรณ์