
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 7 มี.ค. 68
เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางเยือนนครไถหนาน เพื่อเข้าร่วม “การประชุมกล้วยไม้แห่งเอเชียแปซิฟิก และนิทรรศการกล้วยไม้นานาชาติไต้หวัน ประจำปี 2568” โดยปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า กล้วยไม้เป็นผลผลิตทางการเกษตรเริ่มแรกของไต้หวัน ที่ส่งออกไปยัง 60 กว่าประเทศทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดาและออสเตรเลีย เป็นต้น
ปธน.ไล่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า นิทรรศการกล้วยไม้นานาชาติไต้หวัน ถือเป็น 1 ใน 3 ของนิทรรศการกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบกับ “การประชุมกล้วยไม้แห่งเอเชียแปซิฟิก” ที่มีกำหนดการจัดขึ้น 3 ปีครั้ง ก็ได้เวียนกลับมาเปิดฉากขึ้นในไต้หวัน ในรอบ 20 ปี
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันได้รับฉายาว่าอาณาจักรแห่งกล้วยไม้ เนื่องจากพวกเราเป็นสังคมเกษตรกรรม ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีมา ภายใต้ความมุ่งมั่นพยายามของภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ อุตสาหกรรมไม้ดอกของไต้หวัน เริ่มต้นจากการเกษตรแบบดั้งเดิม พัฒนามาสู่การผสมผสานทางเทคโนโลยี การสร้างแบรนด์ของตนเอง และการผลักดันให้ก้าวไปสู่เวทีนานาชาติ
เฉพาะในปีที่แล้ว มูลค่าการผลิตกล้วยไม้ในไต้หวัน ได้สร้างยอดสูงถึง 6,400 ล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งในจำนวนนี้ มูลค่าที่ได้จากการส่งออก เติบโตสูงถึง 6,100 ล้านเหรียญไต้หวัน
ปธน.ไล่ฯ ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว นิทรรศการกล้วยไม้นานาชาติไต้หวัน สามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมได้เป็นจำนวนกว่า 300,000 คน โดยในปีนี้ นายหวงเหว่ยเจ๋อ ผู้ว่าการนครไถหนาน ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 350,000 คน ระยะหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่า นิทรรศการกล้วยไม้นานาชาติไต้หวันจะถูกระงับไป อันเนื่องมาจากสถานการณ์โรคโควิด – 19 แต่เนื่องด้วยการผนึกกำลังของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้นิทรรศการในครั้งนี้ ก่อเกิดขึ้นในรูปแบบที่สร้างความตะลึงให้แก่ผู้พบเห็น
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า การประชุมกล้วยไม้แห่งเอเชียแปซิฟิก ประจำปีนี้ มีกำหนดการจัดขึ้นในไต้หวันอีกครา เชื่อว่า จากการร่วมแลกเปลี่ยนของผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในอนาคต ซึ่งภาครัฐส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นจะประสานความร่วมมือกันบูรณาการเทคโนโลยี AI ผลักดันการเกษตรรูปแบบอัจฉริยะ และเร่งปรับปรุงพันธุ์แบบแม่นยำ ตลอดจนมุ่งสู่การประยุกต์ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการปลูกดอกไม้แบบหมุนเวียน
กระทรวงเกษตร (Ministry of Agriculture, MOA) แถลงว่า ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไต้หวัน มีลักษณะที่พิเศษโดดเด่น เหมาะสำหรับการปลูกกล้วยไม้ทุกสายพันธุ์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขตั้งต้นที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมกล้วยไม้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ภายใต้ความมุ่งมั่นพยายามของผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรม ภาครัฐและภาควิชาการ อุตสาหกรรมกล้วยไม้ไต้หวันได้พัฒนาจนกลายมาเป็นระบบห่วงโซ่คุณค่าที่ครอบคลุมสมบรูณ์ ซึ่งนอกจากจะมีศักยภาพการขยายพันธุ์ที่เปี่ยมคุณภาพแล้ว ยังมีระบบบริหารกระบวนการผลิตที่เหมาะสม และการแบ่งงานที่มีความเชี่ยวชาญอีกด้วย
สวนเทคโนโลยีชีวภาพกล้วยไม้ไต้หวัน (Taiwan Orchid Technology Park) เป็นชุมชนอุตสาหกรรมการผลิตกล้วยไม้ที่สำคัญของไต้หวัน หลังจากปี 2565 ที่ MOA เข้ารับช่วงต่อดูแลบริหาร ก็ได้ตั้งวิสัยทัศน์ว่าจะพัฒนาสวนแห่งนี้ ให้ก้าวสู่การเป็นฐานความเชี่ยวชาญด้านการส่งออกกล้วยไม้ไต้หวัน และเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็น “สวนนวัตกรรมอุตสาหกรรมดอกไม้” ซึ่งคาดว่าจะขยายขอบเขตเนื้อที่ให้เพิ่มขึ้นเป็น 300 เฮกตาร์ พร้อมทั้งบูรณาการทรัพยากร เทคโนโลยีการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ ผสมผสานให้เข้ากับหลักการการหมุนเวียนที่ยั่งยืน และสอดรับต่อกระแสการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
MOA แถลงว่า นิทรรศการกล้วยไม้นานาชาติไต้หวันได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 21 แล้ว โดยในปีนี้ได้จัดขึ้นควบคู่กับการประชุมกล้วยไม้แห่งเอเชียแปซิฟิก ที่เวียนกลับมาจัดขึ้นที่ไต้หวันในรอบ 20 ปี ซึ่งนิทรรศการได้เปิดตัวขึ้น ภายใต้ธีม “NEXT 20” โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ใน 20 ปีข้างหน้าจะมุ่งพัฒนาเสริมสร้างให้อุตสาหกรรมกล้วยไม้ ก้าวสู่ทิศทาง “ความอัจฉริยะ ความยั่งยืน นวัตกรรมและการส่งต่อ” โดยคูหาหลักได้รับแรงบันดาลใจมาจากอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและระบบนิเวศทางธรรมชาติ ด้วยการผสมผสานองค์ประกอบระหว่างกล้วยไม้และสุนทรียศาสตร์ในพื้นที่ รวมไปถึงเทคโนโลยีแสงสี ซึ่งภายในคูหายังได้มีการจัดแสดง “สายพันธุ์กล้วยไม้ที่ส่งเข้าประกวด” นับพันต้น “โซนการประกวดออกแบบภูมิทัศน์ ทั้งในและต่างประเทศ” ที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่างแดน และ “โซนการประกวดภูมิทัศน์สำหรับนักเรียนนักศึกษา” ที่สื่อให้เห็นถึงการสืบสานแนวคิดความยั่งยืนทางภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการสัมผัสประสบการณ์ดื่มด่ำในรูปแบบดิจิทัล และกิจกรรมต่างๆ ที่รอให้คุณมาร่วมสำรวจเสน่ห์กันอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ การประชุมกล้วยไม้แห่งเอเชียแปซิฟิก ยังจัดให้มีการประชุมบรรยายในหัวข้อพิเศษอีกกว่า 50 รอบ โดยได้ติดต่อเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนอภิปรายกันในประเด็นการเพาะพันธุ์ การเพาะปลูก เทคโนโลยีและการอนุรักษ์ พร้อมทั้งอภิปรายในประเด็นการพัฒนาความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกล้วยไม้ ควบคู่กับการถอดรหัสอนาคตของอุตสาหกรรมกล้วยไม้ เพื่อนำพาให้อุตสาหกรรม พิชิตสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์โดยเร็ววัน