ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
“กิจกรรม Girls in Creative Society” ที่จัดขึ้นโดยคกก.กิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อร่วมสำรวจกระแสใหม่ทางเทคโนโลยีแบบข้ามแวดวง เปิดให้ลงทะเบียนแล้ว นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
2025-03-11
New Southbound Policy。“กิจกรรม Girls in Creative Society” ที่จัดขึ้นโดยคกก.กิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อร่วมสำรวจกระแสใหม่ทางเทคโนโลยีแบบข้ามแวดวง เปิดให้ลงทะเบียนแล้ว นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (ภาพจากคณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)
“กิจกรรม Girls in Creative Society” ที่จัดขึ้นโดยคกก.กิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อร่วมสำรวจกระแสใหม่ทางเทคโนโลยีแบบข้ามแวดวง เปิดให้ลงทะเบียนแล้ว นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป (ภาพจากคณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี)

คณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันที่ 8 มี.ค. 68

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2568 นายซูเจิ้นกัง รองประธานคณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (National Science and Technology Council, NSTC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พร้อมด้วยนายอู๋หมิงเว่ย ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท CyCraft Technology และนายชิวเหรินเจี๋ย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการศึกษาทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน ได้จับมืออธิการบดีโรงเรียนมัธยมปลายศึกษา และตัวแทนนักเรียนหญิง นักวิชาการ รวมไปถึงตัวแทนผู้ประกอบการ เข้าร่วม “พิธีเปิดกิจกรรม Girls in Creative Society (GiCS)” โดยการแข่งขันภายใต้แคมเปญ Girls in Creative Society ในปีนี้ ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว ซึ่งครั้งนี้ได้จัดเพิ่มรายการการประยุกต์ใช้แผ่นชิปและโรบอท ที่สอดรับต่อกระแสการพัฒนาทางเทคโนโลยี พร้อมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนนักเรียนหญิงเข้ามีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มอาชีวศึกษาและกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา อีกทั้งยังจำแนกการแข่งขันออกเป็น 2 รายการ ได้แก่ “ด่านความมั่นคงทางไซเบอร์” และ “การประกวดความคิดสร้างสรรค์” ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนแล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงปลายเดือนมีนาคม และมีกำหนดการจัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลศในวันที่ 10 พฤษภาคม 2568
 
รองปธ.ซูฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า Girls in Cybersecurity หรือ Girls in Creative Society เป็นแนวคิดที่ให้การส่งเสริมเยาวชนหญิง เปิดศักยภาพทางนวัตกรรมและการบูรณาการ โดยในปีนี้ยังคงยืนหยัดในการจัดการแข่งขันศักยภาพความมั่นคงทางไซเบอร์เหมือนเช่นเคย แต่ขยายขอบเขตไปสู่ด้านต่างๆ ที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้ในหลากหลายมิติ อาทิ แผ่นชิป โรบอท อากาศยานไร้คนขับ หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมอวกาศ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมการแข่งขันจะช่วยปลุกกระตุ้นความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ของเหล่าเยาวชน อันจะนำไปสู่การคิดค้นแนวทางการแก้ไขปัญหาความต้องการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ที่อาจเกิดขึ้นในวิถีชีวิตประจำวัน
 
รองปธ.ซูฯ ระบุว่า กิจกรรมในครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนนักเรียนนักศึกษา ได้เข้าฝึกงานในองค์กรธุรกิจที่ตนสนใจ เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่ตนเองมีความถนัดและสนใจ ก่อนการสำเร็จการศึกษา อันจะเป็นการยกระดับความมั่นใจ และเป็นการปูรากฐานการก้าวสู่เส้นทางสายอาชีพในภายภาคหน้าต่อไป
 
การประสานความร่วมมือแบบบูรณาการข้ามแวดวง เป็นหลักการที่ NSTC ยึดมั่นในการบ่มเพาะบุคลากร โดยรองปธ.ซูฯ ได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อเหล่าคณาจารย์และตัวแทนผู้ประกอบการ ที่ร่วมส่งเสริมให้ “GiCS” เป็นกิจกรรมเชิงรุกที่กระตุ้นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรหญิงอย่างยั่งยืน โดยในอนาคต NSTC มีแผนการที่จะจัดตั้งทีมชาติแผ่นชิปไต้หวัน เพื่อสรรสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานที่มีความมั่นคงและยืดหยุ่น โดยนโยบายที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร เป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ไต้หวันสวมบทบาทสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานแห่งประชาธิปไตยในเวทีนานาชาติต่อไป อนึ่ง วัตถุประสงค์ของกิจกรรม GiCS คือการบ่มเพาะบุคลากรทางเทคโนโลยีที่เป็นผู้หญิง ที่ไม่ได้จบสายตรงจากคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการก้าวออกจากกรอบความคิดแบบดั้งเดิม ผสมผสานเข้ากับคุณสมบัติความละเอียดอ่อนของผู้หญิง ควบคู่ไปกับการบูรณาการความรู้ความสามารถแบบข้ามแวดวง เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในมิติที่หลากหลาย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันขานรับสปิริตนี้ ด้วยการมุ่งบ่มเพาะบุคลากรทางเทคโนโลยีที่เป็นผู้หญิงกันเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น