ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันจัดกิจกรรม “สัปดาห์ความเสมอภาคทางเพศไต้หวัน” ขึ้นในนครนิวยอร์ก โดยได้รับเกียรติจากอดีตปธน.ไช่อิงเหวินเข้าร่วมแบ่งปันผลสัมฤทธิ์ด้านความเสมอภาคทางเพศของไต้หวัน ผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า
2025-03-14
New Southbound Policy。กต.ไต้หวันจัดกิจกรรม “สัปดาห์ความเสมอภาคทางเพศไต้หวัน” ขึ้นในนครนิวยอร์ก โดยได้รับเกียรติจากอดีตปธน.ไช่อิงเหวินเข้าร่วมแบ่งปันผลสัมฤทธิ์ด้านความเสมอภาคทางเพศของไต้หวัน ผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
กต.ไต้หวันจัดกิจกรรม “สัปดาห์ความเสมอภาคทางเพศไต้หวัน” ขึ้นในนครนิวยอร์ก โดยได้รับเกียรติจากอดีตปธน.ไช่อิงเหวินเข้าร่วมแบ่งปันผลสัมฤทธิ์ด้านความเสมอภาคทางเพศของไต้หวัน ผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 14 มี.ค. 68
 
กิจกรรม “สัปดาห์ความเสมอภาคทางเพศไต้หวัน” (Taiwan Gender Equality Week 2025) ประจำปี 2568 ที่จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มีกำหนดการเปิดฉากขึ้น ณ นครนิวยอร์ก ในช่วงระหว่างวันที่ 10 – 21 มีนาคม 2568 โดยกิจกรรมในปีนี้ได้วางแผนให้สอดรับต่อการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรีแห่งสหประชาชาติ (The Commission on the Status of Women, CSW) ครั้งที่ 69 “ค่ำคืนแห่งพลังสตรีในด้านวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นไฮไลท์เด่นของ “สัปดาห์ความเสมอภาคทางเพศไต้หวัน” ประจำปีนี้ ได้เปิดฉากขึ้นที่สำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในนครนิวยอร์ก เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 12 มีนาคม 2568 ภายใต้แคมเปญ “กิจกรรมที่ไต้หวันเป็นเจ้าภาพ : ร่วมฉลองความก้าวหน้าและความยืดหยุ่นของพลังสตรี” (Taiwan Main Stage: Celebrating Women’s Resilience and Progress) โดยในระหว่างนี้ ได้มีการเปิดฉายภาพบันทึกวิดีทัศน์ของอดีตประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ที่เข้าร่วมแบ่งปันผลสัมฤทธิ์ด้านความเสมอภาคทางเพศของไต้หวัน นอกจากนี้ ภายในงาน ยังได้ติดต่อเชิญบุคคลสำคัญให้เข้าร่วมแสดงปาฐกถา อาทิ Ms. Thulisile Dladla รองนายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรเอสวาตินี Ms. Kelley Currie เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิสตรีทั่วโลก รวมไปถึงหลิวปั๋วจวิน เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อร่วมเป็นกระบอกเสียงให้แก่ไต้หวันในเวทีประชาคมโลก
 
นายหลี่จื้อเฉียง ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในนครนิวยอร์ก กล่าวขณะปราศรัยว่า ไต้หวันประสบความสำเร็จในการกระตุ้นส่งเสริมศักยภาพสตรี เนื่องด้วยเล็งเห็นว่า ความเสมอภาคทางเพศเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่ควรมีผู้ใดถูกละทิ้งไว้เบื้องหลัง โดยไต้หวันจะมุ่งจับมือกับหุ้นส่วนระดับโลก เพื่อการแสวงหาสิทธิความเสมอภาคทางเพศอย่างต่อเนื่องต่อไป
 
อดีตปธน.ไช่ฯ แถลงว่า ไต้หวันได้มุ่งบรรลุสถานการณ์ความคืบหน้าที่สำคัญหลายรายการในด้านความเสมอภาคทางเพศ ในตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา อันจะเห็นได้จากกรณีที่สัดส่วนสมาชิกสภานิติบัญญัติที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากในปี 2555 และเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 ในปี 2563 นอกจากนี้ จากรายงานสถาบันทางสังคมและดัชนีทางเพศ (Social Institutions and Gender Index, SIGI) ปี 2566 ที่จัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ไต้หวันถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 6 ในโลก และอันดับที่ 1 ในภูมิภาคเอเชีย จึงถือได้ว่า ไต้หวันเป็นประเทศผู้บุกเบิกด้านความเสมอภาคทางเพศ แม้ว่าจะถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบองค์การระหว่างประเทศหลักๆ แต่ไต้หวันก็ยังคงมุ่งพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างเป็นรูปธรรม โดยอดีตปธน.ไช่ฯ แสดงจุดยืนว่า ไต้หวันให้คำมั่นที่จะจัดสร้างสังคมที่เปี่ยมด้วยความเสมอภาคทางเพศเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพวกเราเชื่อว่า เมื่อใดที่บุคลากรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันทุกเพศสถานะ รัฐบาลและประเทศชาติในภาพรวม จึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด
 
Ms.Dladla กล่าวว่า ภายใต้การให้ความช่วยเหลือจากไต้หวัน อุตสาหกรรมในเอสวาตินีได้ก้าวพิชิตหลักชัยการพัฒนาทางสิทธิสตรีอย่างมากล้น อาทิ การอนุมัติกองทุนหมุนเวียนสินเชื่อขนาดเล็ก  สำหรับการประกอบธุรกิจของสตรี ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 450 ราย และการให้ความช่วยเหลือกลุ่มสตรี 6,000 รายในการเสริมสร้างทักษะการประกอบอาชีพ ยกระดับทุนการศึกษาระดับอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมศักยภาพสตรี พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า หลักการความเสมอภาคทางเพศมิได้จำกัดเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังถือเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการส่งเสริมสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนาที่ยั่งยืน
 
Ms. Currie แสดงความคาดหวังที่จะเห็นไต้หวัน - สหรัฐฯ มุ่งประสานความร่วมมือในการผลักดันโครงการส่งเสริมศักยภาพสตรีอย่างต่อเนื่อง พร้อมแสดงทรรศนะว่า สหประชาชาติ (UN) ควรที่จะเฝ้าจับตาต่อสถานภาพผู้นำของไต้หวันในด้านการส่งเสริมศักยภาพสตรี ควบคู่ไปกับการยกระดับบทบาทของไต้หวันในองค์การระหว่างประเทศ
 
ผู้แทนหลิวฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ – ไต้หวัน ต่างยึดมั่นในค่านิยมสากลร่วมกัน ถือเป็นหุ้นส่วนที่ดีที่สุดในการร่วมผลักดันพลังสตรี ซึ่งนอกจากจะเกื้อหนุนซึ่งกันและกันแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาคมโลกและกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ได้รับอานิสงส์ควบคู่ไปด้วย แม้ว่าไต้หวันจะถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบสหประชาชาติ หรือแม้กระทั่งอาคารสำนักงานใหญ่ของ UN พวกเราก็ไม่สามารถย่างกรายเข้าไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม พวกเราไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาและให้ความช่วยเหลือแก่นานาประเทศทั่วโลก เชื่อว่า การกระทำจะเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงการบรรลุคำมั่นได้ดีที่สุด
 
กิจกรรมประจำปีนี้ได้ติดต่อเชิญนางหรูเจียฮุ่ย ประธานมูลนิธิ Egret Cultural & Educational Foundation จัดการแสดงการบรรเลงเปียโน โดยหวังที่จะอาศัยการแสดงรูปแบบ Immersive ในธีม “ความหวัง” ผสมผสานให้เข้ากับท่วงทำนอง ภาพทัศนศิลป์และเทคโนโลยี เพื่อแสดงให้เห็นถึงค่านิยมด้านสันติภาพ ความรักและความหวัง ที่กลุ่มสตรีร่วมยึดมั่น ภายใต้สถานการณ์โลกที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา
 
โดยในระหว่างกิจกรรม ยังได้มีการจัด “นิทรรศการพลังสตรีไต้หวัน” เพื่อนำเสนอให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการผลักดัน “การบูรณาการเพศภาวะให้เป็นกระแสหลัก” (Gender Mainstreaming) การเข้าร่วมทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจของกลุ่มสตรี การพัฒนาด้านการศึกษาและการเรียนรู้แบบ STEM ศึกษาของกลุ่มสตรี รวมไปถึงการบัญญัติกฎหมายเพื่อสกัดกั้นการใช้ความรุนแรงทางเพศ เป็นต้น พร้อมกันนี้ ยังได้ติดต่อเชิญบรรดาแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมสร้างสรรค์ผลงานปะติดรูปผีเสื้อให้ก่อเกิดเป็นรูปทรงแผนที่ไต้หวัน อันเป็นสัญญลักษณ์ที่บ่งชี้ให้เห็นว่า กลุ่มสตรีได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงจากความท้าทายนานับประการ แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและเด็ดเดี่ยว
 
กิจกรรมในครั้งนี้ร่วมจัดขึ้นโดยกต.ไต้หวัน และมูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาสิทธิสตรี (Foundation for Women's Rights Promotion and Development) ซึ่งมีตัวแทนเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเจ้าหน้าที่องค์การนอกภาครัฐ (NGO) จำนวนกว่า 200 คนที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศ พร้อมทั้งได้ทำการไลฟ์สดตลอดช่วงกิจกรรมผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และช่องทาง Youtube