ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมช.กต.ไต้หวันตอบรับให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวนสพ. The Japan Times โดยเน้นย้ำว่า ไต้หวันจะมุ่งธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก พร้อมหวังที่จะเห็นไต้หวัน - ญี่ปุ่น เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในเชิงลึกต่อไป
2025-03-14
New Southbound Policy。รมช.กต.ไต้หวันตอบรับให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวนสพ. The Japan Times โดยเน้นย้ำว่า ไต้หวันจะมุ่งธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก พร้อมหวังที่จะเห็นไต้หวัน - ญี่ปุ่น เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในเชิงลึกต่อไป (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมช.กต.ไต้หวันตอบรับให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวนสพ. The Japan Times โดยเน้นย้ำว่า ไต้หวันจะมุ่งธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก พร้อมหวังที่จะเห็นไต้หวัน - ญี่ปุ่น เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในเชิงลึกต่อไป (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 13 มี.ค. 68

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2568 นายอู๋จื้อจง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Gabriel Dominguez บรรณาธิการฝ่ายกิจการเอเชียแห่งหนังสือพิมพ์ The Japan Times ภาคภาษาอังกฤษ โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่ ภายใต้หัวข้อ “พวกเรามิใช่ยูเครน” (We are not Ukraine) และ “ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น ดำเนินไปในทิศทางเชิงลึก รมช.กต.ไต้หวันหวังที่จะร่วมสร้างปฏิสัมพันธ์ในรูปแบบ “ไม่เป็นทางการ” กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของญี่ปุ่น” (Taiwan’s No. 2 diplomat seeks higher-level ‘unofficial’ Japan meetings as ties grow) ในวันที่ 11 และ 12 มีนาคม 2568 ตามลำดับ โดยบทความทั้งสองฉบับข้างต้น ได้รับการอัปโหลดลงบนแพลตฟอร์มสื่อนสพ. ซึ่งได้รับความสนใจในวงกว้างจากทุกแวดวง
 
รมช.อู๋ฯ กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า ค่านิยมและแนวคิดระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น มีความคล้ายคลึงกันมาก ทั้งสองฝ่ายมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการค้า ประกอบกับการไปมาหาสู่ระหว่างภาคประชาชนของทั้งสองฝ่าย ที่นับวันยิ่งเพิ่มความคึกคักมากยิ่งขึ้น นักท่องเที่ยวชาวไต้หวันเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ธารน้ำใจที่ไต้หวันส่งมอบให้ญี่ปุ่น เนื่องในเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ เมื่อปี พ.ศ. 2554 แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ระหว่างไต้หวัน - ญี่ปุ่น โดยรัฐบาลไต้หวันยินดีที่จะเห็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐของทั้งสองฝ่าย เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนกันในรูปแบบ “ไม่เป็นทางการ” อาทิเช่น กรณีที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐของไต้หวันได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในวันพระราชสมภพของสมเด็จพระจักรพรรดิ
 
รมช.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า การธำรงรักษาสถานภาพเดิมที่เปี่ยมด้วยสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก มีส่วนเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ที่สำคัญของญี่ปุ่น เรือพิฆาตของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่นแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันเพียงลำพังเป็นครั้งแรก เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไต้หวันยินดีที่จะเห็นรัฐบาลญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงแผนปฏิบัติการที่เด็ดขาดในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก เพื่อการสวมบทบาทที่สำคัญในการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค การที่ญี่ปุ่นมุ่งเสริมสร้างศักยภาพทางกลาโหมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสถานการณ์ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการเสวนาแลกเปลี่ยน ระหว่างไต้หวัน - ญี่ปุ่น มีความสำคัญต่อไต้หวันเป็นอย่างมาก ไต้หวันหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของญี่ปุ่น ตลอดจนกระตุ้นให้เกิดการประสานความร่วมมือแบบทวิภาคีในเชิงลึกระหว่างกัน
 
ต่อกรณีความสัมพันธ์ไต้หวัน – สหรัฐฯ รมช.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า การที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ มุ่งปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ในพื้นที่ภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก และการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรัฐบาลไต้หวัน มีจุดยืนเดียวกัน ไต้หวันถือเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่สำคัญของสหรัฐฯ อันจะเห็นได้จากระยะที่ผ่านมา บริษัท TSMC ได้ประกาศจะขยายเพิ่มการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในปี 2567 ไต้หวันก้าวสู่การเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 7 ของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ เป็นไปอย่างลุ่มลึก โดยสหรัฐฯ สามารถช่วยให้ไต้หวัน ไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมจากจีน ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษาผลประโยชน์ในพื้นที่ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก หลังจากนี้ ไต้หวันจะยังคงมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในด้านเศรษฐกิจ การค้าและความมั่นคงเชิงลึกต่อไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกอย่างยั่งยืนสืบไป
 
ต่อประเด็นที่ประเทศภายนอกเปรียบเทียบสถานการณ์ระหว่างยูเครน - ไต้หวัน รมช.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันมิใช่ยูเครน นอกจากไต้หวันจะมีช่องแคบไต้หวัน ที่เป็นเกราะป้องกันมิให้จีนเข้ารุกรานได้โดยง่ายแล้ว รัฐบาลไต้หวันยังมุ่งเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศอย่างกระตือรือร้น เพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ก็ยังมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก สถานการณ์ช่องแคบไต้หวันขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจโลก รมช.อู๋ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไต้หวันจะยังคงให้การสนับสนุนยูเครนอย่างต่อเนื่อง หากประชาคมโลกยอมรับต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ก็อาจเล็งเห็นได้ว่า พลังสกัดกั้นของประชาคมโลกที่มีต่อการต่อต้านการรุกรานไต้หวันจากรัฐบาลปักกิ่ง ก็อาจจะถูกบั่นทอนลงตามไปด้วย
 
ในช่วงท้าย รมช.อู๋ฯ ระบุว่า ไต้หวันนอกจากจะมุ่งรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ควบคู่ไปกับการแสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่เปี่ยมความรับผิดชอบแล้ว พวกเราจะมุ่งหลีกเลี่ยงการสร้างความยั่วยุท้าทาย เพื่อมิให้จีนอาศัยมาเป็นข้ออ้างในการยกระดับความตึงเครียดของสถานการณ์ในภูมิภาค โดยไต้หวันหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนกับญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในเชิงลึก เพื่อส่งเสริมให้สันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาคคงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน