
กระทรวงเกษตร วันที่ 19 มี.ค. 68
กระทรวงเกษตร (Ministry of Agriculture, MOA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า หลังจากที่ไต้หวันยื่นขออนุมัติการรับรองเป็น “ประเทศปลอดโรคอหิวาต์สุกร” (Classical swine fever, CSF) จากองค์การอนามัยสัตว์โลก (World Organisation for Animal Health, WOAH) ก็ได้รับแจ้งจากคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ (Scientific committee) ของ WOAH ว่ามีมติ “เห็นด้วย” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาและแจ้งเรื่องล่วงหน้า เป็นระยะเวลา 60 วัน หากไม่มีการคัดค้านจากประเทศสมาชิก มติการรับรองข้างต้นจะได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการในการประชุมประจำปีของ WOAH ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ อันจะเป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ด้านการตรวจสอบและป้องกันโรคระบาดในสัตว์ของไต้หวัน ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการรุกขยายสู่ตลาดต่างประเทศของผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรไต้หวัน
โรคอหิวาต์สุกร (Classical Swine Fever, CSF) เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ และถือเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงในภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร นับตั้งแต่ที่ไต้หวันตรวจพบกรณีโรคอหิวาต์สุกร 1 ราย เมื่อปี พ.ศ. 2548 รัฐบาลก็เร่งผลักดันแผนปฏิบัติการป้องกันอย่างครอบคลุม ซึ่งประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นไว้ซึ่งสถานการณ์โรคระบาด จนกระทั่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 25676 ที่ทางการประกาศยกเลิกการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์สุกร พร้อมทั้งจัดตั้งกลไกการตรวจสอบที่รัดกุม เพื่อทำการประเมินว่า ไต้หวันปลอดซึ่งเชื้อไวรัสอหิวาต์สุกร ผ่านการลงพื้นที่ตรวจอบ การฝึกอบรมบุคลากร และการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์วัคซีนอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ เพื่อต้องการมุ่งผลักดันมาตรการการป้องกันเชื้อไวรัส CSF อย่างมีเสถียรภาพ
ขณะเดียวกัน ไต้หวันก็มุ่งเสริมสร้างมาตรการการตรวจคัดกรองในเขตพื้นที่พรมแดน โดยได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ซึ่งนอกจากจะตรวจค้นกระเป๋าสัมภาระของนักท่องเที่ยวและพัสดุสินค้าอย่างรอบคอบแล้ว ยังเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสุกร และประชาสัมพันธ์ให้ภาคประชาชนร่วมรับทราบเกี่ยวกับหลักการด้านการป้องกันโรคระบาด นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งกฎระเบียบว่าด้วยการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อสุกร ที่จำเป็นต้องมาจากเขตพื้นที่ / ประเทศที่ปลอดโรคเท่านั้น ซึ่งขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่เคยรับวัคซีนป้องกันมาก่อน และต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสในช่วงระหว่างการกักตัวในเขตพรมแดน หากผลการตรวจคัดกรองเป็นลบ จึงจะสามารถผ่านเข้าสู่เขตอาณาไต้หวันได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เชื้อไวรัส CSF แพร่กระจายเข้าสู่เขตแดนไต้หวัน
หลังจากผ่านการตรวจสอบและการประเมินภายในประเทศอย่างรัดกุมมาเป็นเวลานาน จนเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เรามีเงื่อนไขที่สอดคล้องกับมาตรฐานการยื่นขอรับรองเป็น “ประเทศปลอดโรคอหิวาต์สุกร” จึงได้ทำการยื่นเรื่องต่อ WOAH อย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 หลังจากที่คณะผู้เชี่ยวชาญ WOAH ได้ทำการพิจารณาแผนกลยุทธ์การป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน และตรวจสอบข้อมูลสถิติที่ได้รับการบันทึกไว้ ว่าสอดคล้องกับมาตรฐานข้อกำหนดสุขภาพสัตว์บก (Terrestrial Animal Health Code) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงได้รับแจ้งจากคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ของ WOAH ว่ามีมติ “เห็นด้วย”
ตราบจนปัจจุบัน กรณีการยื่นขออนุมัติของไต้หวันก้าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและแจ้งเรื่องล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 60 วัน หากไม่มีการคัดค้านจากประเทศสมาชิก มติการรับรองข้างต้นจะได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการในการประชุมประจำปีของ WOAH ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ไต้หวันจะเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับการรับรองว่าเป็นประเทศปลอดเชื้อไวรัส CSF โรคปากเท้าเปื่อย (FMD) และโรคอหิวาต์แอฟริกาสุกร (ASF)
MOA ระบุว่า เครื่องหมายรับรองดังกล่าว นอกจากจะเป็นการให้การยอมรับต่อศักยภาพการป้องกันโรคระบาดในสัตว์ของไต้หวันแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างกำลังใจให้แก่อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสใหม่ในการรุกขยายตลาดนานาชาติของผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรของไต้หวัน เชื่อว่าหลังจากที่ไต้หวันได้รับการรับรองจาก WOAH แล้ว จะมีส่วนช่วยในการเจรจาเงื่อนไขการส่งออกระหว่างไต้หวันและคู่ค้า เพื่อรุกขยายโอกาสการส่งออกในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นต่อไป
MOA เน้นย้ำว่า ภารกิจการป้องกันโรคระบาดไม่มีวันสิ้นสุดลง แม้จะได้รับการรับรองจาก WOAH แล้ว แต่ไต้หวันจะยังคงมุ่งเสริมสร้างมาตรการการป้องกันแบบข้ามพรมแดน และส่งเสริมมาตรการการตรวจสอบที่รัดกุมภายในประเทศต่อไป เพื่อรักษาสถานภาพของการเป็นประเทศปลอดโรคอหิวาต์สุกร ให้คงอยู่อย่างมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะมุ่งประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรอย่างใกล้ชิด เพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ให้พัฒนาไปสู่อีกลำดับขั้นต่อไป