ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
เจ้าหน้าที่มูลนิธิ Sasakawa Peace ของญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมเยือนคณะกรรมการกิจการทางทะเลไต้หวันเป็นครั้งแรก
2025-03-26
New Southbound Policy。เจ้าหน้าที่มูลนิธิ Sasakawa Peace ของญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมเยือนคณะกรรมการกิจการทางทะเลไต้หวันเป็นครั้งแรก (ภาพจาก OAC)
เจ้าหน้าที่มูลนิธิ Sasakawa Peace ของญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมเยือนคณะกรรมการกิจการทางทะเลไต้หวันเป็นครั้งแรก (ภาพจาก OAC)

คณะกรรมการกิจการทางทะเล วันที่ 25 มี.ค. 68
 
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 Mr. Nobukatsu Kanehara ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิ Sasakawa Peace Foundation ของญี่ปุ่น ได้นำคณะตัวแทนเดินทางเยือนคณะกรรมการกิจการทางทะเล (Ocean Affairs Council, OAC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นครั้งแรก โดยมีนางก่วนปี้หลิง ประธาน OAC เข้าให้การต้อนรับด้วยตนเอง ระหว่างนี้ เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายได้เปิดการอภิปรายแลกเปลี่ยนกันในประเด็นการพัฒนาความร่วมมือกิจการทางทะเล รวมไปถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืนในมหาสมุทร ระหว่างไต้หวัน - ญี่ปุ่น
 
ปธ.ก่วนฯ ระบุว่า ไต้หวัน – ญี่ปุ่น มีปฏิสัมพันธ์กันในทิศทางที่ลุ่มลึก และพึ่งพาอาศัยกันอย่างใกล้ชิดด้านความมั่นคงทางทะเล อีกทั้งยังร่วมเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล เป็นต้น เมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายทางทะเลในระดับภูมิภาค ที่นับวันยิ่งทวีความสลับซับซ้อน ทั้งสองฝ่ายจึงได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการกำจัดขยะทะเล อีกทั้งยังจัดการฝึกอบรมด้านการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ รวมถึงการกู้ภัยในน่านน้ำทะเล เชื่อว่าจากการเสวนาทางนโยบายที่เกี่ยวข้อง การร่วมแบ่งปันทรัพยากรและการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยี จะสามารถช่วยส่งเสริมให้ศักยภาพด้านการตรวจสอบมหาสมุทร การรับมือต่อภัยพิบัติและการบริหารทรัพยากร ได้รับการยกระดับไปสู่อีกขั้น นอกจากนี้ ปธ.ก่วนฯ ยังได้แสดงความขอบคุณต่อมูลนิธิ Sasakawa Peace Foundation ที่ให้การสนับสนุน “โครงการกองทุนสานฝันเยาวชนในต่างแดนมูลค่าหมื่นล้านเหรียญ” ของไต้หวัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรรุ่นใหม่ ก้าวเข้าสู่กลไกการวิจัยกิจการทางทะเล เชื่อว่าในอนาคต ไต้หวัน – ญี่ปุ่นจะมุ่งขยายการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างคุณูปการด้านการพัฒนากิจการทางทะเลต่อไป
 
ปธ.ก่วนฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลนิธิ Sasakawa Peace เป็นองค์การนอกภาครัฐที่ทรงอิทธิพลของญี่ปุ่น มีบทบาทหน้าที่ในการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพระดับโลกให้คงอยู่ยั่งยืน มาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังเป็นหุ้นส่วนที่ไม่สามารถขาดได้ในความสัมพันธ์อันดีระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น
 
ปธ.ก่วนฯ ยังได้ระบุอีกว่า “แผนปฏิบัติการเพื่อเสรีภาพและการเปิดกว้างในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก” ด้วยมุมมองวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ถือเป็นการวางรากฐานสำคัญด้านสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาค และเป็นหลักอ้างอิงในการมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบัน ไต้หวัน – ญี่ปุ่นต่างก็ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านความมั่นคงทางทะเล ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างกลไกความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง เพื่อการธำรงรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค ให้คงอยู่ต่อไป
 
Mr. Nobukatsu หยิบยกแนวคิด “ปัญหาของไต้หวัน ก็ถือเป็นปัญหาของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน” ที่ยื่นเสนอโดยอดีตนรม.อาเบะ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า พวกเราควรเร่งกระชับความสัมพันธ์เชิงลึกกับสหรัฐฯ และประเทศหุ้นส่วน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางสันติภาพและเสถียรภาพในระดับภูมิภาค โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมเปิดอภิปรายกันในประเด็นสายเคเบิลใต้น้ำ ภายใต้แง่มุมหลักนิติธรรมและแนวทางที่เป็นรูปธรรมกันในภายภาคหน้าต่อไป