ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
สำนักงานเตรียมการพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งชาตินครไถหนาน จัดพิธีเปิดป้ายอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าภายนอกจะขานเรียกเราอย่างไร พวกเราก็มิได้ด้อยค่าไปกว่าใคร
2025-03-26
New Southbound Policy。สำนักงานเตรียมการพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งชาตินครไถหนาน จัดพิธีเปิดป้ายอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าภายนอกจะขานเรียกเราอย่างไร พวกเราก็มิได้ด้อยค่าไปกว่าใคร (ภาพจากกระทรวงวัฒนธรรม)
สำนักงานเตรียมการพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งชาตินครไถหนาน จัดพิธีเปิดป้ายอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าภายนอกจะขานเรียกเราอย่างไร พวกเราก็มิได้ด้อยค่าไปกว่าใคร (ภาพจากกระทรวงวัฒนธรรม)

กระทรวงวัฒนธรรม วันที่ 25 มี.ค. 68
 
เพื่อนำเสนอให้เห็นถึงวิวัฒนาการด้านการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ศิลปะของไต้หวัน และตอบสนองต่อแผนริเริ่มในแวดวงศิลปะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หลังผ่านกระบวนการเจรจาหารือและร่วมพิจารณาอย่างครอบคลุม เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 กระทรวงวัฒนธรรม (Ministry of Culture, MOC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้จัดพิธีเปิดป้ายสำนักงานเตรียมการพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งชาตินครไถหนาน (Preparatory Office of National Museum of Modern Art Taiwan, MOMA Tainan) โดยมีผู้เข้าร่วมที่สำคัญมากมาย อาทิ นายหลี่หย่วน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายหวังสือซือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายหวงเหว่ยเจ๋อ ผู้ว่าการนครไถหนาน นายหวงหงเหวิน ผู้อำนวยการ MOMA Tainan และนางโหยวเหวินเหมย ผู้อำนวยการหอศิลป์ไถหนาน (Tainan Art Museum) พร้อมกันนี้ ยังมีเหล่าสมาชิกครอบครัวของศิลปินแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญในแวดวงศิลปะเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ด้วย
 
รมว.หลี่ฯ หยิบยกข้อความที่ปรากฎในคำนำของผลงาน “ก่อนแสงตะวันของวันใหม่” ซึ่งระบุถึงความรู้สึกนึกคิดของศิลปินรุ่นเก่าอย่างนายหวงถู่ซุ่ย นายเฉินเฉิงพัวและนายเฉินจื๋อฉี ที่ผลงานได้รับคัดเลือกให้เข้าจัดแสดงในนิทรรศการผลงานวิจิตรศิลป์ญี่ปุ่น (Japan Fine Arts Exhibition) ซึ่งเป็นกรณีที่คล้ายคลึงกันกับการทำมือเป็นกรอบภาพบริเวณหน้าอกของนายเฉินเจี๋ยเซี่ยน นักกีฬาเบสบอลมืออาชีพชาวไต้หวัน หลังคว้าชัยชนะมาครอง โดยเฉินฯ กล่าวว่า พวกเราเพียงแค่ไม่มีชื่อเฉพาะของตนเอง แต่เราไม่ได้ด้อยค่ากว่าใคร
 
รมว.หลี่ฯ ระบุว่า เมื่อปี 2561 MOC ได้ยื่นเสนอโครงการ “การฟื้นฟูประวัติศาสตร์ศิลปะไต้หวัน” ด้วยการจัดระเบียบมุมมองและกลไกการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ศิลปะไต้หวัน ในรูปแบบเฉพาะของตนเอง ผ่านการวิจัยและการจัดนิทรรศการ ซึ่งตราบจนปัจจุบัน MOC สามารถรวบรวมผลงานของศิลปินรุ่นเก่า ได้ในจำนวนกว่า 867 รายการ บันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์อีก 90,000 ชิ้น และโบราณวัตถุที่ได้รับการฟื้นฟูซ่อมแซมอีกกว่าจำนวน 8,000 ชิ้น
 
“แสงตะวันของไต้หวัน มาถึงแล้วหรือยัง?” รมว.หลี่ฯ กล่าวว่า พวกเราจะยังคงมุ่งมั่นก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งภาคประชาชนสามารถเป็นผู้กุมชะตาชีวิตของตนเอง อีกทั้งพวกเรายังสามารถกำหนดนัยยะทางประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ทางศิลปะของตนเอง ผ่านรูปแบบเฉพาะตัว ไม่ว่าผู้อื่นจะเรียกพวกเราว่าไต้หวัน สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) หรือสาธารณรัฐจีน “พวกเราก็มิได้ด้อยค่าไปกว่าใคร”
 
ผู้ว่าการหวงฯ กล่าวว่า หอศิลป์ไถหนาน สาขา 2 สร้างขึ้นในยุคที่ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการนครไถหนาน โดยในช่วงเวลานั้น สถานการณ์การเงินของเทศบาลนครมิได้คล่องตัวนัก แต่ก็สามารถก้าวข้ามอุปสรรค ระดมทุนได้เป็นจำนวน 1,200 ล้านเหรียญไต้หวัน ประกอบกับงบประมาณจากภาครัฐส่วนกลางอีก 800 ล้านเหรียญไต้หวัน จนปัจจุบัน หอศิลป์ไถหนาน สาขา 2 แห่งนี้ ได้พัฒนาจนกลายมาเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญในพื้นที่
 
MOC แถลงว่า หลายปีมานี้ สมาชิกครอบครัวของเหล่าศิลปินผู้ล่วงลับและแวดวงศิลปะต่างทยอยกันยื่นเสนอและคาดหวังที่จะเห็นไต้หวันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติขึ้นอีกแห่ง เพื่อนำเสนอวิวัฒนาการการพัฒนาประวัติศาสตร์เชิงศิลปะอย่างมีระบบและครอบคลุม
 
เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มการพัฒนาของพิพิธภัณฑ์ศิลปะระดับนานาชาติ การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ตามหัวข้อพิเศษ หรือการแบ่งพิพิธภัณฑ์ตามยุคสมัย จึงเป็นกระบวนการตามลำดับขั้น ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่ MOC ได้ทำการปรึกษาหารือและพิจารณา รวมถึงประสานงานแบบข้ามหน่วยงานแล้ว ท้ายที่สุด จึงได้ลงมติกำหนดให้หอศิลป์ไถหนาน สาขา 2 ยกระดับสู่การเป็นฐานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติไถหนาน และกำหนดให้ผลงานศิลปะในยุคสมัยใหม่ ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1895 – 1960 ได้รับการจัดแสดงเป็นนิทรรศการถาวร โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะทำการรวบรวมและจัดเตรียมพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติ แห่งที่ 2 ขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องต่อกระแสการพัฒนา ระหว่างพื้นที่เมือง - หอศิลป์